สัตว์ที่เป็นอันตรายต่อระบบไฟฟ้า 1

สัตว์ที่เป็นอันตรายต่อระบบไฟฟ้า 1

สัตว์ที่เป็นอันตรายต่อระบบไฟฟ้า หลายคนคงนึกถึงพวกสัตว์ที่อยู่ตามบ้าน อย่างที่พบกันบ่อยก็เช่น พวกหนู หรือ พวกสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่คอยรบกวนระบบไฟบ่อย ๆ แต่สัตว์ที่รบกวนระบบไฟมีมากกว่านั้น เรามาดูกันว่ามีสัตว์อะไรบ้าง?

  1. กระรอก

สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามบริเวณบ้าน และมักทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรอีกหนึ่งชนิดคือ กระรอก เจ้าสัตว์ฟันแทะชนิดนี้ นอกจากจะชอบไต่ไปบนสายไฟแล้ว ยังชอบแทะสายไฟอีกด้วย เรียกได้ว่า ควบคู่ทั้งสองอย่างเลยก็ว่าได้

หนูอาจจะแทะสายอย่างเดียวที่เป็นปัญหา แต่กระรอกนั้นบ่อยครั้งที่ช็อตบนสายแรงสูง ทำให้ไฟดับเป็นบริเวณกว้าง ในเขตการใช้ไฟฟ้านั้น ๆ ปัญหากวนใจเจ้าบ้านแบบนี้หลายคนเริ่มหาวิธีกำจัดกระรอกออกไฟจากสวน บางคนเลี้ยงสุนัขไว้ในบริเวณบ้าน เพราะสุนัขจะชอบไล่กวดสัตว์ประเภทนี้ รวมถึงการหุ้มห่อผลไม้ในสวน เพราะกระรอกจะเข้าบ้าน เนื่องจากบริเวณบ้านปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง ชมพู่

บางครั้งอาจรวมไปถึงการฆ่า การสำเร็จรังแล้วปิดโพรงไม่ให้กระรอกมีที่อยู่ เรียกได้ว่าเป็นการทำลายแหล่งที่อยู่กันเลยทีเดียว ทั้งการทำลายเส้นทางการเข้าบ้าน เช่น ตัดแต่งกิ่งไม้ในบริเวณบ้าน หุ้มสายไฟด้วยแผ่นโลหะ ทำให้การปีนป่ายของกระรอกยากลำบากขึ้น

นั่นก็จะทำให้กระรอกอยู่ลำบากมากยิ่งขึ้น สุดท้ายก็ย้ายแหล่งที่อยู่ไปเอง…..

2.งู

สายไฟไม่ใช่ที่ที่งูชอบใช้เป็นทางเลื้อยหรอก แต่บ่อยครั้งที่ไฟเกิดดับเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ เกิดจากงูเพียงตัวเดียว มันอาจจะไม่ได้ตั้งใจไปบริเวณที่มีไฟฟ้าแรงสูง แต่บังเอิญนอนอยู่บนต้นไม้ที่อยู่ใกล้สายไฟ หรือ มีนกเกาะอยู่บนสายไฟ

มันพยายามจะกินนกบนสายไฟแต่เกิดพลาด ตัวยาว ๆ ของมันพาดสายครบวงจรพอดี ก็ทำให้มันกลายเป็นงูย่างแถมไฟดับไปทั้งบริเวณ

พฤติกรรมที่ทำให้ไฟดับในบ้านของงูนั้นยังไม่เคยพบ เพราะงูไม่ได้ชอบแทะสายไฟเล่น หรือเลื้อยไปแล้วเอาหางแหย่ปลั๊กไฟเล่น ยกเว้นเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงจริง ๆ เช่น หนูกัดสายไฟจนฉนวนหุ้มหลุดร่อนออกมาอยู่ก่อนแล้ว และงูก็ดมกลิ่นตามรอยหนู ซึ่งเป็นเหยื่อโดยธรรมชาติอยู่แล้วไป ตัวเกิดไปพาดกับสายไฟที่เปลือยอยู่ ทำให้เกิดการลัดวงจรของไฟฟ้า นั่นน่าจะเป็นเหตุที่พอจะเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ก็ไม่บ่อยนัก

เรื่องงูเข้าบ้านคงไม่มีใครอยากพบเจอแน่นอน ยิ่งบ้านที่ติดกับป่าหรือพื้นที่รกร้าง ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ ในเมืองตอนนี้ส่วนใหญ่งูที่พบเจอและถูกแจ้งไปหากู้ภัยมากที่สุด คงจะเป็นงูเหลือม ซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครอง เลยทำให้จำนวนแพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งศัตรูตามธรรมชาติก็น้อยมาก ยิ่งจับไปปล่อยในป่ายิ่งเพิ่มจำนวน

การป้องกันงูเข้าบ้านที่ดีที่สุด คงเป็นการกำจัดแหล่งอาหารตามธรรมชาติของงู เช่น กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก หรือกระทั่งหนู ที่มักแอบอยู่ในสวน ในซอกหลืบภายในบ้าน

3.จิ้งจก

โอกาสเป็นไปได้มีไม่น้อยเลยกับสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้ ที่มักจะชอบเกาะอยู่กับผนังภายในบ้าน ส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นปัญหาคงหนีไม่พ้นเรื่องขี้จิ้งจก ไม่ก็จิ้งจกโดนประตูหนีบตาย ส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ภายในบ้าน

แต่ใครจะนึกถึงว่ามันสามารถทำให้ไฟช็อตได้ด้วย โดยเฉพาะจิ้งจกตัวเล็ก ๆ หรือ ลูกจิ้งจก เพราะขนาดตัวของมันจะลอดเข้ารูเต้ารับได้พอดี

หรือไม่มันก็ชอบมุดเข้าไปในเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้พอเราเปิดใช้งานแล้วไฟฟ้าอาจลัดวงจรได้ปัญหากวนใจไม่ใช่น้อยเลย จนบางคนถึงขั้นเอายางยืดเดินยิงไปทั่วบ้าน หรือ เลี้ยงแมวไว้ในบ้าน เพราะแมวกับจิ้งจกเหมือนเป็นของคู่กัน

หลากหลายวิธีไล่จิ้งจก ตั้งแต่ไล่ด้วยสารเคมีทางวิทยาศาสตร์ หรือกระทั่งด้วยวัสดุธรรมชาติจากพืชหรือผลไม้ในครัว เช่น การใช้ซอสพริกผสมน้ำเปล่าใส่ลงในขวดสเปรย์ แล้วฉีดตามมุมต่าง ๆ ในบริเวณบ้าน ซึ่งจะทำให้จิ้งจกหนีไปจากตรงนั้น แต่วิธีนี้เราอาจต้องได้กลิ่นซอสพริกไปด้วยเพราะคราบของซอสพริกจะเกาะอยู่ตามบริเวณที่เราฉีดสเปรย์ไว้

4.นก

สัตว์ที่เราป้องกันยากมากที่สุดเห็นจะไม่พ้นนก เพราะเป็นสัตว์ปีก เราไม่สามารถขวางเส้นทางการบินของมันได้

เราคงเคยได้ยินคำถามที่ว่า ทำไมนกไม่โดนไฟช็อตเวลาเกาะบนสายไฟ ซึ่งคำตอบคือเพราะเท้าของนกเป็นฉนวน และนกเกาะสายเดียวไม่ครบวงจร

แต่บ่อยครั้งเช่นกันที่นกก็โดนไฟช็อตได้ ทำให้ไฟดับในเขตให้บริการไฟฟ้านั้น ๆ อีกอย่างที่สร้างความรำคาญใจให้ไม่น้อยเลยคือ ตรงไหนมีสายไฟตรงนั้นก็จะกลายเป็น “ส้วมของนก” ใต้สายไฟจะเต็มไปด้วยขี้นกหยดเป็นทาง นอกจากกลิ่นไม่พึงประสงค์แล้วก็เป็นที่เพาะเชื้อโรคอีกต่างหาก

หลายคนคิดวิธีไล่นก ไม่ให้มาเกาะสายไฟที่เชื่อมต่อจากมิเตอร์เข้ามาที่ตัวบ้าน บ้างใช้วิธีเปิดลำโพงส่งเสียงดัง ๆ บางทีเป็นเสียงนกจิกตีทะเลาะกัน บางทีเป็นคลื่นความถี่ที่นกได้ยิน แต่คนไม่ได้ยิน คือ มีผลกระทบต่อนก แต่ไม่กระทบต่อคน ถ้าเป็นในไร่นาสวนพืชไร่ ก็ใช้วิธีจุดประทัดยักษ์ หรือ ตีเกราะเคาะไม้ แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ตามบ้าน ซึ่งระยะสายไฟอาจไม่ได้ไกลมาก นั่นคือ การทำ “รั้วหนามกันนกเกาะ” วิธีทำคือ ใช้เคเบิลไทป์ ผูกกับสายไฟเรียงติดกัน ดูภายนอกเหมือนเป็นหนามแหลม จึงเรียกว่า รั้วหนาม นกจะไม่เกาะเพราะมีสิ่งกีดขวางอยู่

HOTLINE-061-417-5732

https://www.facebook.com/changfidotcom

Line: @changfi

ผู้เขียน : สุวิทย์ นาดี

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *