ไบออส BIOS (Basic Input Output System) คือ โปรแกรมเล็ก ๆ ที่ถูกเก็บไว้ในชิป ROM ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ บนเมนบอร์ด และมีส่วนสำคัญมากในการบูตเครื่อง เพราะไบออสจะคอยตรวจสอบอุปกรณ์ทั้งหมด หากอุปกรณ์ตัวไหนมีการทำงานผิดพลาด ไบออสก็จะรายงาน หรือ ส่งสัญญาณเสียง (Beep Code) ให้เราทราบทันที ไบออสจะทำงานหลังจากมีการเปิด สวิตช์ทันทีที่มีการใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยจะทำการตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ เช่น Hard Disk, Disk Drive, CD-ROM และ RAM
ไบออส บางครั้งก็เรียกว่า ซีมอส (CMOS) แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นคนละส่วนกัน คือ ไบออสเป็นโปรแกรมที่เก็บในรอม ไม่จำเป็นต้องมีพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการเก็บข้อมูล ส่วนซีมอส จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลในการบูตระบบ มีหลักการทำงานคล้ายแรม ซึ่งต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าเลี้ยงตลอดเวลา โดยปกติจะอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ ภายในเครื่องคอมฯ ปัจจุบัน ไบออสและซีมอส ได้ถูกรวมกันเป็นชิปตัวหนึ่ง ๆ ในการทำงานนั้น ทั้ง BIOS และ CMOS ก็จะทำงานร่วมกันโดย BIOS จะใช้ข้อมูลที่เก็บอยู่ใน CMOS ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ก็คือ ข้อมูลที่เกิดจากการเซ็ตอัพโดยผู้ใช้เอง ซึ่งจะเป็นข้อมูลเฉพาะของเครื่อง ฉะนั้นทุก ๆ ครั้งที่คุณเปิดเครื่อง BIOS ก็จะไปดึงข้อมูลที่กำหนดไว้จาก CMOS
ในสมัยก่อนเมื่อประกอบเครื่องเสร็จแล้วทำการบูตเครื่อง จะไม่สามารถบูตได้ในทันที จะต้องกำหนดค่าใน BIOS ก่อนว่ามีสื่อบันทึกข้อมูลอะไรอยู่ในเครื่องบ้าง ได้แก่ ฟลอบปีดิสก์ ฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟ ซีดีรอม แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนา BIOS ให้สามารถค้นหาและตรวจสอบอุปกรณ์ที่ติดตั้งโดยอัตโนมัติ ดังนั้น เมื่อเราประกอบเครื่องเสร็จแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำการปรับแต่ง BIOS อีกต่อไป เครื่องจะสามารถบูตและทำงานได้ตามปกติ แต่ในบางกรณีที่เราติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม และเครื่องทำงานไม่ถูกต้อง หรือ ระบบไม่เสถียรเท่าที่ควร เราก็อาจจะต้องทำการปรับแต่ง BIOS เพื่อแก้ไขให้ระบบทำงานได้ดีหรือเร็วขึ้นได้
และนี่คือความหมายของ BIOS โปรแกรมเล็ก ๆ แต่มีความสำคัญกับระบบคอมพิวเตอร์ เปรียบเสมือนยามที่คอยรักษาความปลอดภัย และแจ้งเตือนเมื่อมีสิ่งผิดปกติบนคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า “เล็กแต่แจ๋ว” สำหรับอายุการใช้งานของถ่านไบออส ตามมาตรฐานแล้วจะมีอายุถึง 10 ปี อย่างไรก็ตาม เวลาอาจเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งาน และสภาพแวดล้อมภายในคอมพิวเตอร์ด้วย