สายโทรศัพท์ มีกี่ชนิด?

สายโทรศัพท์ (Telephone Cable) เป็นอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในระบบโทรศัพท์ โดยทั่วไปตัวนำที่อยู่ภายในของสายโทรศัพท์นั้นจะทำมาจากทองแดง ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าได้ดี 

ทั้งนี้ เราสามารถสังเกตลักษณะของการติดตั้งและการนำไปใช้งานได้ ผ่านฉนวนด้านนอกของสายโทรศัพท์อย่าง Jacket (แจ็คเก็ต) โดยมันจะตัวที่บ่งบอกว่าสายโทรศัพท์ชนิดนี้เหมาะสำหรับการติดตั้งภายใน หรือ ภายนอกอาคาร อีกทั้งมันยังสามารถบอกถึงลักษณะของการติดตั้งของสายโทรศัพท์ได้อีกด้วยว่าเหมาะสำหรับติดตั้งแบบแขวนเสา หรือ ฝังดิน

โดย Jacket ที่อยู่บนสายโทรศัพท์นั้น ทำให้เราสามารถแบ่งชนิดของสายโทรศัพท์ออกมาได้เป็น 4 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้

  1. สายชนิด TIEV 

เป็นสายโทรศัพท์ที่เหมาะสำหรับการติดตั้งภายในอาคาร โดยมันเป็นสายที่มี Jacket ชนิด PVC โดยการติดตั้งนั้นจะทำการเดินจากตู้ TC หรือ MDF ไปยังโทรศัพท์ โดยทั่วไปสายโทรศัพท์ชนิดนี้ จะสามารถแบ่งแยกย่อยออกมาได้อีก 2 ประเภท ได้แก่

1.1) TIEV 2 CORE สําหรับโทรศัพท์แบบอนาล็อก

1.2) TIEV 4 CORE สําหรับโทรศัพท์แบบดิจิตอล และ อนาล็อก

  1. สายชนิด TPEV 

เป็นสายโทรศัพท์ที่นิยมนำมาใช้ติดตั้งภายในอาคาร โดยมันเป็นสายโทรศัพท์ชนิดคู่ไม่ตีเกลียว ที่ Jacket เป็นชนิด PVC โดยการติดตั้งนั้นจะทำการเดินจาก MDF ไปยัง TC หรือเดินสายแบบ Backbone (แบคโบน) โดยสายโทรศัพท์ชนิดนี้จะมีทองแดงเป็นตัวนำอยู่ภายใน ที่มีขนาดตั้งแต่ 4, 5, 6, 8, 10, 15, 20, 25, 30, 40, 50, 100, 150 และ 200 คู่

  1. สายชนิด DROP WIRE (ดรอป ไวร์)

เป็นสายโทรศัพท์ที่เหมาะสำหรับการติดตั้งภายนอกอาคารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์โดยเฉพาะ โดยตัวของสายโทรศัพท์ชนิดนี้นั้นจะมีสีดํา และมีแกนลวดหุ้มด้วยพลาสติกชนิด PVC มีอยู่ด้วยกัน 2 ขนาด ได้แก่ ขนาด 2 x 0.65 มม. และขนาด 2 x 0.9 มม.

  1. สายชนิด AP 

เป็นสายโทรศัพท์ที่มีลักษณะที่คล้ายกับสายชนิด TPEV แต่ Jacket ของสายชนิดนี้จะเป็นชนิด PE จึงทำให้สายโทรศัพท์ชนิดนี้นิยมนำมาติดตั้งภายนอกอาคาร ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ในกรณีที่เป็นแบบแขวนเสา จะต้องเป็นแบบ FIGER 8 โดยมันเป็นสาย AP ที่มีสลิงอยู่ภายในตัว ทั้งนี้ การติดตั้งจะต้องลงกราวด์เอาไว้ด้วยเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดไฟฟ้ารั่วและฟ้าผ่า แต่ถ้าเป็นแบบฝังดิน จะต้องใช้สายที่เป็น AP ชนิด ARMORED ซึ่งเป็นสายที่มีโลหะหุ้มอยู่ 1 ชั้น ก่อนที่จะปิดทับด้วย Jacket เพื่อเป็นการป้องกันสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ดินกัดแทะ อีกทั้งยังสามารถกันกระแทกได้ดี 

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *