มารู้จัก “อุปกรณ์เขียนแบบไฟฟ้า” กัน!

งานไฟฟ้า เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้และความชำนาญในการปฏิบัติ เนื่องจากงานไฟฟ้าเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ว่าจะเป็นในทางของไฟฟ้าหรือปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ดังนั้น เราจึงควรที่จะมีการเตรียมการในการปฏิบัติงานที่ดี อีกทั้งยังต้องมีสติและไม่ประมาทตลอดเวลาที่ทำการปฏิบัติงาน

โดยการปฏิบัติงานที่ดีนั้นมาจากการที่เรามีการเตรียมการที่ดีด้วยเช่นกัน อย่างการออกแบบการติดตั้งหรือซ่อมแซมไฟฟ้านั้น นอกจากที่จะต้องอาศัยความรู้ความชำนาญในการออกแบบแล้ว เรายังต้องอาศัยอุปกรณ์ที่ดีและมีคุณภาพในการเขียนแบบไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

โดยอุปกรณ์ในการเขียนแบบไฟฟ้า นั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายประเภทมาก ๆ โดยอุปกรณ์ทุกประเภทนั้นก็มีความสำคัญต่องานไฟฟ้าด้วยกันทั้งสิ้น 

  1. โต๊ะเขียนแบบ (Drawing Table) 

เป็นโต๊ะเขียนแบบไฟฟ้า ที่มีลักษณะเหมือนโต๊ะปกติทั่วไป โดยทั่วไปขนาดตามมาตรฐานของมันก็คือ 600 x 900 มม. ไปจนถึง 1,050 x 2,100 มม. โดยคุณสมบัติของโต๊ะเขียนแบบที่ดีนั้นคือ 

1.1) พื้นโต๊ะต้องผลิตมาวัสดุที่มีความแข็งและราบเรียบ อีกทั้งยังต้องทำความสะอาดง่าย 

1.2) ขอบด้านหนึ่งต้องมีความเรียบและตั้งฉากกับพื้นผิวโต๊ะ 

1.3) สามารถปรับพื้นโต๊ะให้มีความสูง ต่ำ หรือเอียงได้ เพื่อความสะดวกในการเขียนแบบ

  1. กระดานเขียนแบบ (Drawing Board) 

เป็นอุปกรณ์ที่นิยมนำมาใช้ในกรณีที่ไม่มีโต๊ะเขียนแบบ โดยทั่วไปกระดานเขียนแบบนั้นจะผลิตมาจากแผ่นกระดานไม้เนื้ออ่อนพื้นเรียบ ที่ปูพื้นกระดานด้วยวัสดุแผ่นเรียบอย่าง แผ่นโฟไมก้า (Formica) และมีขอบตั้งฉากกับพื้น ในส่วนของวิธีการใช้งาน ก็คือ เมื่อติดกระดาษลงไปบนแผ่นกระดานแล้ว ให้นำกระดานไปวางไว้บนโต๊ะอีกทีหนึ่ง แล้วจึงค่อยนำมาใช้เขียนแบบได้

  1. ไม้ที (T – Square) 

เป็นไม้ที่ใช้เป็นแนวในการลากเส้นตรงในแนวนอน (180 องศา) และใช้เป็นฐานในการรองรับฉากสามเหลี่ยม เพื่อเขียนเส้นในแนวตั้งหรือในแนวดิ่ง (90 องศา) โดยมันเป็นอุปกรณ์ที่จะต้องใช้งานร่วมกันกับโต๊ะเขียนแบบหรือกระดานเขียนแบบ โดยโครงสร้างของฉากตัวทีนั้น จะประกอบไปด้วย ส่วนหัว (Head) และส่วนใบ (Blade) ติดกัน เป็นรูปตัวทีที่ทำมุมฉากต่อกัน

  1. ฉากสามเหลี่ยม หรือ เซตสแควร์ (Triangle หรือ Set – Square) 

ในชุดหนึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีมุมที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้ อันแรกจะทำมุมที่ 30, 60 และ 90 องศา ส่วนอันที่สองจะทำมุมที่ 45 และ 90 องศา โดยการเขียนแบบจากมุมของฉากสามเหลี่ยมทั้ง 2 อันนี้ จะต้องให้ด้านใดด้านหนึ่งของฉากสามเหลี่ยมวางเอาไว้บนขอบของไม้ที เพื่อเขียนเส้นในแนวดิ่งหรือเส้นในแนวตั้ง (90 องศา) นอกจากนี้ มันยังใช้ในการเขียนเส้นทำมุม 30, 45 และ 60 องศา โดยทั่วไปฉากเหล่านี้จะผลิตมาจากเซลลูลอยด์ (Celluloid) หรือ พลาสติก ที่มีขนาดที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ขนาด 8,10 และ 12 นิ้ว

  1. บรรทัดสเกล (Scale) 

เป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าที่ในการวัดระยะ และช่วยให้เราสามารถเขียนแบบได้ตามขนาดที่ต้องการ ผ่านการใช้มาตราส่วนที่เหมาะสม บรรทัดสเกลนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ซึ่งก็มีทั้งแบบแบน และ แบบหน้าตัดเป็นสามเหลี่ยม ที่มีผิวหน้าสำหรับการวัดที่มากขึ้น ในส่วนของการใช้งานบรรทัดสเกล ส่วนใหญ่จะนิยมนำตัวหนีบมาหนีบไว้ เพื่อให้ได้ผิวหน้าที่ต้องการ โดยการใช้งานที่ถูกต้องนั้นบรรทัดสเกลจะต้องหันผิวหน้าขึ้นด้านบนเสมอ 

  1. วงเวียน (Compass) 

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียนวงกลมและเส้นโค้ง โดยลักษณะของมันนั้นจะมีขาที่แหลมอยู่ข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งจะเป็นที่เอาไว้สำหรับใส่ไส้ดินสอ ในกรณีที่เราต้องการเขียนวงกลมที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ เราอาจจะต้องมีชุดต่อขาวงเวียน (Lengthening Bar) เพื่อให้วงเวียนนั้นมีขนาดของขาที่ยาวมากยิ่งขึ้น เพื่อที่เราจะได้เขียนวงกลมที่มีขนาดตามที่เราต้องการได้

  1. วงเวียนวัดระยะ (Divider) 

เป็นวงเวียนที่มีลักษณะคล้ายกับวงเวียนทั่วไป แต่วงเวียนวัดระยะนั้นจะมีความแตกต่างตรงส่วนขาตรงที่ตรงปลายทั้งสองข้างจะมีขาที่แหลมเหมือนกัน นิยมนำมาใช้ในการแบ่งเส้น แบ่งระยะ และถ่ายระยะ เนื่องจากปลายทั้งสองข้างของวงเวียนวัดระยะนั้นมีความแหลมคมมาก จึงทำให้การถ่ายระยะออกเป็นส่วน ๆ นั้นสามารถทำได้แม่นยำกว่าการใช้เครื่องมือวัด

  1. ส่วนโค้ง หรือ เคิร์ฟ (Irregular หรือ Curves) 

นิยมนำมาใช้ในกรณีที่จะเขียนส่วนโค้งที่แตกต่างจากส่วนโค้งทั่ว ๆ ไป หรือ ส่วนโค้งที่เราไม่สามารถสร้างด้วยวงเวียนได้ ในส่วนของการใช้เคิร์ฟในการเขียนส่วนโค้งนั้น เราควรที่จะกำหนดจุดที่จะให้ส่วนโค้งผ่านไปเอาไว้ก่อน โดยเราอาจจะกำหนดผ่านการคำนวณ การทดลอง หรือการร่างเส้นเบา ๆ ด้วยมือเปล่าเอาไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยนำเคิร์ฟมาทาบแล้วลากเส้นตามแนวเคิร์ฟที่เราได้มีการกำหนดเอาไว้ก่อนหน้านั้น

  1. เทมเพลต (Templates)

เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดระยะเวลาในการเขียนแบบ โดยเทมเพลตนั้นจะเป็นแผ่นพลาสติกที่มีการเจาะรูรูปทรงต่าง ๆ เอาไว้ เช่น รูปวงกลม วงรี สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยม ฯลฯ ที่มีขนาดที่แตกต่างกัน ในส่วนของการใช้งานนั้นเรามักจะนำมาใช้ในการทาบรูปทรงของเทมเพลตที่เราต้องการเขียนลงไปบนกระดาษ จากนั้นใช้ดินสอลากตามรูปในเทมเพลตเหล่านั้นได้เลย ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเขียนแบบตามหลักการต่าง ๆ 

  1. กระดาษเขียนแบบ (Drawing Sheet) 

กระดาษเขียนแบบนัน้มีหลากหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีลักษณะและหน้าที่ในการใช้สอยที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

11.1) กระดาษร่าง 

เป็นกระดาษที่มีลักษณะเหมือนกระดาษลอกลายทั่วไป ที่จะมีความทึบของกระดาษที่น้อยมาก ๆ จนเราสามารถมองทะลุผ่านแบบที่ร่างเอาไว้ข้างใต้ได้

11.2) กระดาษปอนด์

เป็นกระดาษที่มีลักษณะเหมือนกระดาษวาดเขียนทั่วไป แต่จะมีความหนาและบางที่แตกต่างกันหลายขนาดตามน้ำหนัก โดยมีขนาดตั้งแต่ 80 – 100 ปอนด์ ส่วนขนาดด้านกว้างและยาวของแผ่นกระดาษนั้นก็จะมีขนาดตามมาตรฐานของกระดาษทั่ว ๆ ไป

11.3) กระดาษไข 

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระดาษแก้ว เนื่องจากมันเป็นกระดาษที่มีเนื้อที่เรียบแข็ง แต่มีความขุ่นที่น้อยกว่ากระดาษร่าง โดยทั่วไปกระดาษไขมักจะผลิตออกมาขายเป็นม้วน โดยม้วนหนึ่งจะมีความยาวตามมาตรฐาน ประมาณ 30 เมตร กว้าง 1.10 ม. แต่จะความหนาบางที่แตกต่างกันออกไปตามเบอร์ ซึ่งก็มีตั้งแต่เบอร์ 60, 70, 80, 90 และ 100

11.4) กระดาษอื่น ๆ ที่ใช้ในการเขียนแบบ เช่น กระดาษขาว – เทา กระดาษสี และ กระดาษสำหรับพิมพ์แบบ เป็นต้น

  1. ดินสอเขียนแบบ (Drawing Pencil) 

งานเขียนแบบไฟฟ้าเป็นงานที่แตกต่างจากงานเขียนแบบอื่น ๆ เนื่องจากจะต้องพิจารณาในการเลือกชนิดของไส้ดินสอให้เหมาะสมกับชนิดของเส้นและกระดาษที่ใช้ในการเขียนแบบ โดยทั่วไปไส้ดินสอนั้นผลิตมาจากแกรไฟต์ (Graphite) ดินเหนียว ยางสน หรือส่วนผสมของยาง โดยในปัจจุบันดินสอไส้ชนิดแกรไฟต์นั้นจะมีความแข็งอ่อนที่แตกต่างกัน 17 ชนิด โดยไส้ที่มีความอ่อนมาก เวลาเขียนลงไปเส้นที่ได้ก็จะมีความเข้มและดำมาก ในส่วนของไส้ที่มีความแข็งมาก เวลาที่ทำการเขียนลงไปเส้นที่ได้จะมีความจางและดำน้อยกว่า โดยทั่วไปไส้ดินสอชนิดแกรไฟต์ จะมีการใช้ตัวอักษรย่อที่เรียงจากความแข็งมากที่สุดไปยังไส้ดินสอที่มีความอ่อนมากที่สุด ดังนี้ 6B, 5B, 4B, 3B, 2B, B, HB, F, H, 2H, 3H, 4H, 5H, 6H, 7H, 8H และ 9H เป็นต้น

  1. เทปกาว (Scotch Tape) 

นิยมนำมาใช้ติดกระดาษเขียนแบบกับโต๊ะเขียนแบบ หรือ ติดกับกระดานเขียนแบบ เพื่อให้กระดาษและอุปกรณ์ในการรองเขียนนั้นแน่นติดกัน เพื่อป้องกันกระดาษเลื่อนหรือหลุดจากอุปกรณ์ที่ใช้รองในการเขียนแบบ โดยการติดเทปกาวลงบนกระดาษเขียนแบบที่ถูกต้องนั้นจะต้องติดเทปกาวที่มุมกระดาษเขียนแบบทั้ง 4 มุม

  1. ยางลบ (Rubber) 

            ชิลด์กันลบ (Erasing Shield)

โดยทั่วไปรูปร่างของยางลบที่นิยมใช้ในงานเขียนแบบจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทั้งนี้ ยางลบที่ดีนั้นไม่ควรมีความแข็งมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ผิวของกระดาษเขียนแบบช้ำได้ โดยก่อนที่จะนำยางลบมาใช้งาน เราควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ายางลบนั้นอยู่ในสภาพที่สะอาดหรือไม่ โดยวิธีทำความสะอาดยางลบง่าย ๆ เลยก็คือ การนำยางลบไปถูกับกระดาษที่สะอาด และในกรณีที่เราต้องการที่จะลบเส้นที่ติดอยู่กับส่วนอื่น ๆ ที่เราไม่ต้องการลบ เราควรใช้อุปกรณ์อย่าง ชิลด์กันลบ (Erasing Shield) ก็จะช่วยให้เราสามารถทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น