อินเทอร์เน็ต เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์มาก เนื่องจากปัจจุบันโลกของเรานั้นเป็นโลกแห่งเทคโนโลยี นั่นจึงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ ล้วนแล้วแต่ต้องมีการพึ่งพาเทคโนโลยีแทบจะทั้งหมด
โดยสิ่งที่จะสามารถกระจายและส่งต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตของเราไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้นั้น ก็คงจะหนีไม่พ้นกับสาย LAN (แลน)
แต่ก่อนที่เราไปรู้จักกับสาย LAN เราอยากให้ทุกคนจะรู้จักกับคำว่า LAN ก่อน
LAN ย่อมาจาก Local Area Network ที่หมายถึงระบบที่เชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอื่น ๆ อีกมากมาย ต่อสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เช่น บ้าน โรงเรียน มหาวิทยาลัย สำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
โดยสาย LAN หรือ ชื่อในทางการของมันก็คือ สาย UTP (Unshielded Twisted Pair) เป็นสายนำสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่มีตัวนำสัญญาณเป็นทองแดงที่อยู่ในลักษณะบิดตีเกลียวกันเป็นคู่ โดยทั่วไปสายนี้มักจะนำมาใช้ในการเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการรับ – ส่งข้อมูล หรือ ใช้ในการเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายกลาง อย่างเช่น Network Switch, Hub และ Router
ซึ่งสาย LAN นั้นสามารถแบ่งประเภทออกได้ตามลักษณะของการจำแนก ดังนี้
แบ่งตามความเร็วที่สาย LAN สามารถรองรับได้
- Category 5E (CAT 5E)
เป็นสาย LAN ที่มีความเร็วต่ำ ที่ถูกพัฒนามาจากสาย CAT 5 เดิม เป็นสายที่ออกแบบมาเพื่อรองรับ Bandwidth ที่ 100 – 200 MHz ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 1 Gbps ในระยะทาง 100 เมตร อีกทั้งสาย LAN ประเภทนี้ยังเป็นสาย LAN ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมันมีราคาที่ไม่แพง และค่อนข้างตอบโจทย์ในการใช้งานโดยทั่วไป
- Category 6 (CAT 6)
เป็นสาย LAN ที่มีความเร็ว ที่ผลิตขึ้นมาตามมาตรฐานของ Gigabit Ethernet เป็นสายที่ออกแบบมาเพื่อรองรับ Bandwidth ที่ 250 MHz ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 10 Gbps ในระยะทาง 55 เมตร
- Category 6A (CAT 6A)
เป็นสาย LAN ที่มีความเร็ว ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับ Bandwidth ที่ 500 MHz ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 10 Gbps ในระยะทาง 100 เมตร
- Category 8 (CAT 8)
เป็นสาย LAN ที่มีความเร็วสูง ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับ Bandwidth อยู่ที่ 2 GHz ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 25/40 Gbps ในระยะทาง 30 – 36 เมตร
แบ่งตามลักษณะของการป้องกันสัญญาณรบกวน
- ประเภทมีฉนวนป้องกันสัญญาณรบกวน : Foil Twisted Pair (UTP)
เป็นสาย LAN ที่มีชิลด์ป้องกันสัญญาณรบกวน เป็นสายที่นิยมนำมาใช้งานในพื้นที่ขนาดใหญ่ และพื้นที่ที่มีสัญญาณรบกวนสูง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โดยติดตั้งผ่านเครื่องจักรขนาดใหญ่ ไฟฟ้าแรงสูง ปลั๊กไฟ เป็นต้น
- ประเภทไม่มีฉนวนป้องกันสัญญาณรบกวน : Unshield Twisted Pair (UTP)
เป็นสาย LAN ที่ไม่มีชิลด์ในการป้องกันสัญญาณรบกวน เป็นสายที่มีตัวนำสัญญาณ 8 เส้น (4 คู่) ที่เป็นทองแดงแท้ ส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ทั่ว ๆ ไป
แบ่งตามลักษณะของการติดตั้ง
- ประเภทติดตั้งภายในอาคาร
เป็นสาย LAN ที่เปลือกนอกนิยมทำจากวัสดุ PVC ที่มีความยืดหยุ่น และสามารถป้องกันการลามไฟได้ อีกทั้งสาย LAN ประเภทนี้ยังมีข้อกำหนดหรือมาตรฐานป้องกันทางด้านอัคคีภัย จึงทำให้ต้องมีการใส่สารพิเศษเพิ่มเข้าไป ทำให้สามารถแบ่งประเภทของสาย LAN ภายในอาคารออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1.1) CM (Communication Metallic)
เป็นสาย LAN ที่สามารถป้องกันการลามไฟได้ในแนวราบ จึงเหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไปอย่างการติดตั้งสายแนวราบภายในชั้นเดียวกัน
1.2) CMR (Communication Metallic Riser)
เป็นสาย LAN ที่สามารถป้องกันการลามไฟได้ทั้งในแนวราบและในแนวดิ่ง สายประเภทนี้จึงนิยมนำไปใช้ในการเดินสายสัญญาณระหว่างชั้นในอาคาร โดยเดินผ่านช่องเดินสายของตัวอาคาร
1.3) CMP (Communication Metallic Plenum)
เป็นสาย LAN ที่เหมาะกับการติดตั้งการเดินสายบนฝ้าเพดาน หรือ บริเวณช่องว่างเหนือฝ้าที่มีอากาศไหลเวียน ซึ่งข้อเสียของสายประเภทนี้ คือ มันไม่สามารถป้องกันการลามไฟในแนวดิ่งได้
1.4) LSZH (Low Smoke Zero Halogen)
เป็นสาย LAN ที่สามารถป้องกันการลามไฟได้ทั้งในแนวราบและแนวดิ่งเหมือนกับสาย CMR แต่จะมีความพิเศษกว่าตรงที่หากเกิดเหตุอัคคีภัย สายชนิดนี้จะมีควันน้อย อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายอีกด้วย
- ประเภทติดตั้งภายนอกอาคาร
เป็นสาย LAN ที่เปลือกนอกนิยมทำจากวัสดุ PE (Polyethylene) ที่มีคุณสมบัติในการทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอก ทำให้ไม่สึกกร่อนง่าย แต่ก็ข้อเสียตรงที่ไม่สามารถป้องกันการลามไฟได้