วิธีติดตั้งเบรกเกอร์กันไฟรั่ว ควรทำดังนี้
RCD ควรติดตั้งคู่กับสายดิน เนื่องจากหากติดตั้งเฉพาะ RCD ไม่มีสายดิน เมื่อเกิดไฟรั่ว และมีคนไปสัมผัสถูกก็จะรู้สึกถูกไฟดูด ก่อนที่ RCD จะทำงานตัดวงจร (อันตรายอาจเกิดขึ้นได้หาก RCD ไม่ทำงาน) ดังนั้นการมีระบบสายดินจึงมีความจำเป็นเป็นลำดับแรก ซึ่งคนจะปลอดภัยจากการแตะสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว และไม่รู้สึกถึงการถูกไฟดูด
- ตำแหน่งของการต่อลงดิน ต้องอยู่ก่อนด้านไฟเข้าของ RCD
- ห้ามต่อวงจรลัดคร่อมผ่าน หรือ By pass RCD หรือหากเป็น RCD ที่ปรับตั้งค่าได้ และมีย่าน Direct หรือ By pass ห้ามตั้งค่าที่ย่านดังกล่าว เนื่องจากในสภาวะดังกล่าว หากมีกระแสรั่ว RCD จะไม่ทำงาน เพราะไม่สามารถจับกระแสไฟรั่วได้
การติดตั้ง RCD เพื่อป้องกันวงย่อยที่มีความเสี่ยงแนะนำได้ 2 กรณี คือ
- ที่อยู่อาศัย ที่กำลังติดตั้งระบบไฟฟ้าใหม่สามารถซื้อตู้จ่ายไฟ (แผงเมนสวิตซ์) เพื่อความสะดวกให้เลือกซื้อ RCD แบบที่เหมาะสมมาพร้อมกัน ส่วนกรณีเลือกซื้อเพื่อป้องกันกระแสไฟเกินหรือลัดวงจร ควรเลือกซื้อแบบ RCBO แต่ถ้าซื้อแบบ RCCB จะต้องใช้ร่วมกับเซอร์กิตเบรกเกอร์ด้วย เพื่อให้วงจรย่อยนั้นมีการป้องกันกระแสไฟเกินหรือลัดวงจร ดังรูปด่านล่าง
- ที่อยู่อาศัยที่มีไฟฟ้าใช้อยู่แล้ว ต้องการติดตั้งเพิ่มเติม ไม่สามารถติดในแผงเมนสวิตซ์ได้ ควรติดตั้ง RCD ใกล้แผงเมนสวิตซ์ (ต้นทางของวงจรที่มีความเสี่ยงสูง) รูปด้านล่าง
การติดตั้ง RCD สำหรับที่อยู่อาศัย
การติดตั้ง RCD ควรติดตั้งสำหรับวงจรเฉพาะ หรือวงจรที่มีความเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพื่อหากว่าภายในบ้านเกิดไฟรั่วขึ้นที่มี RCD อยู่ วงจรนั้นจะถูกตัดไฟออก (ไฟดับเฉพาะวงจร) และวงจรไฟฟ้าอื่นในบ้านยังมีไฟใช้ตามปกติ สำหรับมาตรฐานการติดตั้งกำหนดให้นอกจากติดตั้งสายดินแล้ว ต้องมีการติดตั้ง RCD ด้วย