สายดิน มีกี่ประเภท?
สายดิน (Earthing System) เป็นตัวนำสายไฟที่ต่อออกมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยมันมีหน้าที่ในการเป็นเส้นทางให้กระแสไฟฟ้าที่เกิดการรั่วไหลต่าง ๆ ให้สามารถไหลลงไปสู่ดิน แทนที่จะไหลผ่านร่างกายของมนุษย์ ในกรณีที่เผลอไปสัมผัส โดยเป็นเส้นทางให้กระแสไฟฟ้าที่รั่วไหล กลับไปยังหม้อแปลงไฟฟ้า ทำให้เครื่องตัดไฟทำงาน และตัดไฟออกทันที
โดยทั่วไปสายดินจะสามารถทำงานได้ ก็ต่อเมื่อปลายสายด้านหนึ่งของสายดินต่อลงดินด้วยวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้า ส่วนปลายสายอีกด้านต่อเข้ากับพื้นผิวของวัตถุหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการให้มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์เท่ากับพื้นดิน โดยสายดินมีองค์ประกอบหลัก ๆ 2 ส่วน ได้แก่ หลักดิน และสายตัวนำไฟฟ้า (สายดินหรือสายต่อหลักดิน)
ตัวนำไฟฟ้า หรือ สายนำไฟฟ้า โดยทั่วไปภายในสายจะประกอบไปด้วย ลวดทองแดงหุ้มฉนวนพีวีซี ตามมาตรฐานกำหนดให้ใช้สายที่มีฉนวนสีเขียวหรือสีเขียวสลับกับสีเหลือง ซึ่งเป็นสีเฉพาะของสายดิน ทั้งนี้ ขนาดสายต่อหลักดิน สามารถเลือกตามขนาดตัวนำประธาน (สายเมน) ของระบบไฟฟ้า
หลักดิน คือ ตัวนำไฟฟ้าที่มีหน้าที่สำคัญในการถ่ายเทประจุไฟฟ้าให้ไหลลงสู่พื้นดิน โดยเมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต่อสายดินอยู่ กระแสไฟฟ้าที่รั่วก็จะเดินทางจากสายดินมาสู่หลักดิน จากนั้นจึงถ่ายเทลงสู่พื้นดิน หลักดินที่ใช้กับระบบสายดินมีลักษณะทางกายภาพเป็นแท่งโลหะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นแท่งทองแดงหรือเหล็กชุบทองแดง เพื่อป้องกันสนิมและการกัดกร่อน
ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการติดตั้งสายดินมากนัก อีกทั้งยังมองเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากมองว่าการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ก็ยังสามาารถใช้งานได้ดีอยู่ แต่เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น มีคนในบ้านถูกไฟดูด หรือ ไฟฟ้าลัดวงจร จึงต้องติดตั้งระบบสายดินให้ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อให้ระบบสายดินมีความปลอดภัยและใช้งานได้จริง ซึ่งสายดินตามมาตรฐานได้แบ่งประเภทของสายดินออกเป็น 2 ประเภท
สายดินแบบสายไฟ (Earthing Wire) เป็นสายดินที่เหมาะสำหรับการใช้งานกับสวิตช์บอร์ดที่อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีอุปกรณ์ที่มีความไวต่อแม่เหล็กไฟฟ้า สายดินต้องเป็นสายตัวนำทองแดงตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้า อาจเป็นสายตัวนำทองแดงมีฉนวนหุ้มหรือไม่มีฉนวนหุ้ม (สายเปลือย) ส่วนตัวนำอาจเป็นตัวนำเส้นเดี่ยวหรือตีเกลียว สีของฉนวนหรือเปลือกของสายดินต้องเป็นสีเขียวหรือสีเขียวแถบเหลือง
สายดินถัก (Earthing Braid) เป็นสายดินที่เหมาะกับสวิตช์บอร์ดที่อุปกรณ์ไฟฟ้านั้นมีอุปกรณ์ที่ไวต่อแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อเพิ่มการป้องกันการรบกวนจากแม่เหล็กไฟฟ้า EMC ให้สูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันศักย์ไฟฟ้าอีกด้วย
เมื่อเข้าใจความหมาย ประเภท และองค์ประกอบของสายดินแล้ว ควรเลือกใช้สายดินให้เหมาะสมกับที่ประเภทที่อยู่อาศัย และหมั่นตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ หากมีเหตุชำรุดหรือผิดปกติ ควรรีบแก้ไขโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินภายในบ้าน
HOTLINE-061-417-5732
https://www.facebook.com/changfidotcom
Line: @changfi
ผู้เขียน มิ่งสุดา โสมะฐิติ
ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ