องค์ประกอบของฟิวส์ มีอะไรบ้าง?
ฟิวส์ (Fuse) เป็นอุปกรณ์นิรภัยที่มีหน้าที่หลักก็คือ การตัดไฟฟ้าภายในสถานที่ที่มีการใช้ไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และการใช้กระแสเกินในวงจรไฟฟ้า โดยการตัดกระแสไฟฟ้าออกจากวงจร เพื่อไม่ให้เกิดไฟฟ้าช็อตหรือไฟดูดต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ๆ
ซึ่งฟิวส์นั้นสามารถแบ่งได้หลากหลายประเภท แต่หลัก ๆ จะมีด้วยกันอยู่ 5 ประเภท ได้แก่
- ฟิวส์เส้นลวด
- ฟิวส์กระเบื้อง
- ฟิวส์ก้ามปู
- ฟิวส์หลอดแก้ว
- ฟิวส์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker)
โดยทั่วไปแล้ว วัสดุที่นำมาใช้ในการทำฟิวส์ จะต้องเป็นวัสดุที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ แต่มีการนำไฟฟ้าที่สูง เสื่อมสภาพจากสารออกซิเดชันได้น้อยที่สุด และราคาไม่แพง อย่างเช่น ดีบุก ตะกั่ว เงิน ทองแดง และสังกะสี ซึ่งในแต่ละวัสดุก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนี้
- วัสดุที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ ได้แก่ ดีบุก และ ตะกั่ว
- วัสดุที่มีการนำไฟฟ้าสูง ได้แก่ เงิน และ ทองแดง
- เสื่อมสภาพจากสารออกซิเดชันได้น้อยที่สุด ได้แก่ เงิน
- ราคาไม่แพง ได้แก่ ตะกั่ว ดีบุก และทองแดง
จะเห็นได้ว่า วัสดุแต่ละชนิดก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน และไม่มีวัสดุไหนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามองค์ประกอบของหลักการสร้างฟิวส์ ดังนั้น เราควรเลือกใช้ฟิวส์ที่มีคุณสมบัติที่ตรงตามความต้องการและการใช้งานของเรามากที่สุด