หลอดโซเดียมความดันต่ำ (Low Pressure Sodium Lamp) เป็นหลอดไฟฟ้าที่ทำงานที่ความดันภายในหลอดต่ำมาก หลอดไฟชนิดนี้สามารถเปล่งแสงที่มีความยาวคลื่นความยาวเดียวออกมา แสงดังกล่าวอยู่ในย่านของแสงสีเหลือง มีความยาวอยู่ระหว่าง 589.0 – 589.5 นาโนเมตร ซึ่งอยู่ใกล้ความยาว 555 นาโนเมตร ซึ่งเป็นแสงที่ตาคนเรารับรู้ได้ไวที่สุด ดังนั้น หลอดโซเดียมความดันต่ำ จึงเป็นหลอดที่เหมาะที่จะใช้กับประเภทที่ต้องการความปลอดภัยหรือต้องการความชัดเจน หลอดโซเดียมความดันต่ำ เป็นหลอดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในบรรดาหลอดไฟทั้งหมด ประมาณ 120 – 200 ลูเมนส์ต่อวัตต์
ข้อเสียของหลอดโซเดียมชนิดนี้ คือ มีค่าดัชนีความถูกต้องของสีเป็น 0% หากไม่คำนึงถึงเรื่องสีแล้วจะเป็นหลอดประหยัดพลังงานไฟฟ้ามากที่สุด จึงนิยมใช้กรณีที่ต้องเปิดเป็นเวลานานๆ เช่น ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ หรือบางแห่งติดตั้งบริเวณตู้ ATM เพราะต้องเปิดไว้ทั้งคืน
การทำงานของหลอดโซเดียมความดันต่ำ เมื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับวงจรกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านบัลลาสต์ และบัลลาสต์จะสร้างแรงดันขึ้นมาประมาณ 500 – 700 โวลต์ ซึ่งเป็นการเริ่มสตาร์ทหลอด และทำให้ก๊าซนีออนที่อยู่ในหลอดแก้วตัวยูเริ่มแตกตัว ความต้านทานของหลอดจะลดลง และกระแสไฟฟ้าจะสูงขึ้น แต่ในช่วงนี้บัลลาสต์จะทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งก็คือจำกัดกระแสไม่ให้มากเกินไปในตอนสตาร์ท กระแสที่เพิ่มขึ้นทำให้แรงดันไฟฟ้าของบัลลาสต์ต้านที่ต่ออยู่กับหลอดไฟนั้นลดลง เมื่อหลอดโซเดียมเริ่มทำงาน จะมีแสงสีแดงเปล่งออกมา แสดงว่าก๊าซนีออนเริ่มแตกตัวจึงเกิดปรากฎการณ์แสงสีแดงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความร้อนขึ้น และเมื่อความร้อนที่เกิดมีอุณหภูมิสูงขึ้น ก็จะทำให้โซเดียมเริ่มหลอดเหลว และมีบางส่วนกลายเป็นไอ ไอของโซเดียมนี้จะเคลื่อนที่เข้าไปในลำอาร์กและในขณะนั้นความต้านทานภายในหลอดจะต่ำลง กระแสไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นทำให้โซเดียมเกิดการแตกตัว จากนั้นสีของแสงก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองที่มีความยาวคลื่น 586 นาโนเมตร, 589 นาโนเมตร และ 589.6 นาโนเมตร ตามลำดับ