เพราะ “น้ำท่วม” เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งฝนตกหนัก พายุเข้า ลมมรสุม การตัดไม้ทำลายป่า สิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ หรือแม้กระทั่งอ่างเก็บน้ำแตก ฉะนั้นจึงเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยในประเทศไทย ที่สำคัญสร้างความเสียหายต่อบ้าน ชีวิต และทรัพย์สินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะระยะที่มีน้ำท่วมจากภาวะโลกร้อนและพายุฝนตกหนัก หากพูดถึงปัญหาที่มาพร้อมกับน้ำท่วม หลายๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องปัญหาจากอันตรายจากระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทอรนิกส์เป็นอันดับแรก แต่นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ควรระวังอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัญหาเรื่องอันตรายจากไฟฟ้าดูด
วิธีป้องกันไฟดูดช่วงน้ำท่วม
กรณีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานและมีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้าน ให้ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดสวิตช์ไฟ งดใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงห้ามเปิดปิดสวิตช์ไฟด้านใน และด้านนอกอาคารที่อยู่อาศัย
เคลื่อนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นไว้บนที่สูง เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วซึมออกมา และสัมผัสผู้อาศัยโดยใช้กระแสน้ำเป็นตัวกลาง พร้อมทั้งป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย
ควรอยู่ห่างจากเสาไฟฟ้าหรือระบบจำหน่ายในพื้นที่น้ำท่วมอย่างน้อย 2 – 3 เมตร เพื่อความปลอดภัย หากพบเห็นสายไฟฟ้าขาด เสาไฟฟ้าล้ม หรือสายไฟฟ้าขาดแช่น้ำ อย่าเข้าใกล้หรือสัมผัส ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการตรวจสอบ
กรณีเป็นบ้านสองชั้นและมีสวิตช์แยกแต่ละชั้น หากน้ำกำลังจะท่วมชั้นล่าง ให้ปลดสวิตช์ตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นล่าง
การช่วยเหลือและปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดช่วงน้ำท่วม
รีบตัดกระแสไฟฟ้า โดยปิดสวิตช์ ปลดปลั๊กไฟ และสับคัตเอาท์ หากไม่สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้ ให้นำวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง หนังสือพิมพ์ เป็นต้น เขี่ยสายไฟให้หลุดจากตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูด หรือใช้เชือกคล้องและดันตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูดให้หลุดจากบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว โดยผู้เข้าช่วยเหลือต้องยืนบนพื้นแห้ง และสวมรองเท้ายาง
ห้ามใช้มือหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสผู้ถูกไฟฟ้าดูด ในขณะที่ยังไม่ตัดกระแสไฟฟ้า รวมถึงห้ามช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูดในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น หรือยืนบนพื้นที่ชื้นแฉะ เพราะจะได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด
ปฐมพยาบาลผู้ถูกไฟฟ้าดูด ด้วยการปั๊มหัวใจ โดยจัดให้ผู้ถูกไฟฟ้าดูดนอนบนพื้นราบ จากนั้นทำการผายปอดและนวดหัวใจ จนกว่าผู้ถูกไฟฟ้าดูดจะหายใจเองได้ พร้อมรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน และการเรียนรู้วิธีใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้า ทำให้การดำเนินชีวิตในช่วงฤดูฝนเป็นไปด้วยความปลอดภัย
หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีกระแสไฟฟ้าอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง อาจถูกไฟดูด พยามหาวัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า อาทิ ไม้แห้ง ผ้า สายยาง หรือพลาสติก เขี่ยสายไฟฟ้าออกให้พ้น จึงค่อยช่วย ผู้ประสบอันตราย การช่วยผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้า จำเป็นต้องกระทำด้วยความรวดเร็ว และระมัดระวังเป็นพิเศษ
หลังจากน้ำลดแล้ว ควรทำการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด รวมถึงปลั๊กไฟ สายไฟ สวิตช์ไฟ เพื่อไล่ความชื้นจากการแช่น้ำเป็นระยะเวลานาน และตรวจสอบความชำรุดก่อนเริ่มใช้งานจริง เพื่อป้องกันไฟดูดจากการชำรุด อุบัติเหตุไฟดูดช่วงน้ำท่วม สาเหตุหลักมาจากการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัมผัสน้ำโดยตรง และเกิดการสัมผัสโดยตรงกับร่างกาย และจากที่กล่าวเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าดูด สิ่งแรกที่ควรทำคือ ตัดกระแสไฟฟ้าให้เร็วที่สุด ปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บและนำส่งโรงพยาบาล ทั้งนี้ผู้ที่ช่วยเหลือ ต้องช่วยด้วยความระมัดระวัง
HOTLINE-061-417-5732
https://www.facebook.com/changfidotcom
Line: @changfi
ผู้เขียน มิ่งสุดา โสมะฐิติ
ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ