พอย้อนดูคำพิพากษาของศาลในหลายกรณีที่เกิดมีผู้เสียชีวิตจากไฟฟ้าดูด หรือ ช็อตจากรั้วไฟฟ้า ซึ่งเป็นการติดตั้งเพื่อป้องกันขโมยโดยเจ้าของทรัพย์สินแล้ว ก็จะเห็นว่าคำพิพากษาส่วนใหญ่จะออกไปทางการป้องกันเกินกว่าเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
การเปรียบเทียบมูลค่าทรัพย์สินที่ป้องกันกับชีวิตคน มักถูกนำไปประกอบคำพิพากษาของศาลว่าเป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุหรือไม่ เช่น เจ้าของสวนแตงโมล้อมรั้วไฟฟ้า โดยปล่อยกระแสไฟบ้าน 220 โวลต์ ทำให้คนมาขโมยแตงโมถึงแก่ความตาย เมื่อพิจารณาจากราคาทรัพย์สินคือแตงโมแล้วเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้มีราคาสูง คำพิพากษาจึงออกมาเป็นป้องกันทรัพย์สินเกินกว่าเหตุ ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
แล้วแบบไหนที่ไม่ผิด?! มีอยู่หนึ่งกรณี เช่น เจ้าของมีโรงเก็บของอยู่ในพื้นที่ห่างไกลชุมชน และโรงเก็บของมีของมีค่าอยู่ภายใน แถวนั้นมีขโมยชุกชุม และโรงเก็บของเคยถูกขโมยเข้ามาขโมยของมีค่าบ่อยครั้ง
ถ้าเป็นแบบนี้เจ้าของสามารถทำรั้วไฟฟ้าได้ และถ้าเกิดเหตุไฟฟ้าช็อตขโมยที่เข้ามาในโรงเก็บของจนถึงแก่ความตาย กรณีนี้เจ้าของโรงเก็บของไม่มีความผิด
จะเห็นได้ว่าแต่ละกรณีจะแยกพิจารณาต่างกันออกไป ใครจะติดตั้งรั้วไฟฟ้าก็ควรศึกษาข้อกฎหมายเหล่านี้ให้ดี ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดความยุ่งยากในภายหลัง