อุปกรณ์ดับเพลิงด้วยน้ำแบบอัตโนมัติ (Sprinkler) หนึ่งในอุปกรณ์ของระบบดับเพลิงที่มีหลักการทำงานคือ เป็นสปริงเกอร์ดับเพลิงชนิดพิเศษ ติดตั้งไว้ตามฝ้าเพดานในอาคาร และจะทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ หัวสปริงเกอร์กระจายน้ำชนิดนี้ จะออกแบบไว้เฉพาะให้มีกระเปาะแก้วบรรจุแอลกอฮอล์อุดทางท่อจ่ายน้ำไว้ เพื่อไม่ให้สปริงเกอร์ทำงานในสภาพปกติ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ อุณหภูมิเพดานห้องจะขึ้นสูง ทำให้แอลกอฮอล์ในสปริงเกอร์ขยายตัวจนกระเปาะแก้วแตก เปิดทางให้น้ำฉีดออกมาเป็นฝอย เพื่อควบคุมไฟไม่ให้ลุกลาม โดยหัวสปริงเกอร์ดับเพลิงมีหลายแบบด้วยกัน
สปริงเกอร์ดับเพลิงมีหลากหลายชนิด ถ้าแบ่งตามประเภทของการตรวจจับความร้อนที่หัวสปริงเกอร์ มี 2 แบบด้วยกัน คือ แบบโลหะ และแบบกระเปาะแก้ว ตามมาตรฐาน NFPA13 ได้มีการแบ่งประเภทสปริงเกอร์ไว้ถึง 14 แบบ เช่น ESFR, Extend Coverage Sprinkler, Large Drop Sprinkler, Convensional Sprinkler, Open Sprinkler, Standard Spray Sprinkler etc. โดยแต่ละชนิดก็จะมีผลิตภัณฑ์อีกหลายแบบ แต่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอาคารทั่วไปเป็นแบบ Standard Spray Sprinkler, ½”orifice, K=5.6 ชนิดกะเปาะแก้ว (Glass Bulb) ทำงานโดยเมื่อเกิดความร้อนถึงอุณหภูมิของสปริงเกอร์ที่กำหนดไว้ โดยสีของกะเปาะแก้วจะบ่งบอกถึงอุณหภูมิทำงานของสปริงเกอร์ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล โดยในพื้นที่ทั่วไปมักจะติดตั้งสปริงเกอร์กะเปาะสีส้มหรือสีแดง ซึ่งจะทำงานที่อุณหภูมิ 135°F (57°C) หรือ 155°F (68°C)
แต่สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ที่อาจมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เช่น ในห้องครัว ก็จะเลือกอุณหภูมิทำงานที่สูงกว่า เช่น 200°F (93°C) เป็นต้น นอกจากนั้นจะต้องเลือกรูปแบบการติดตั้งตามพื้นที่ เช่น แบบหัวคว่ำ (Pendent), แบบหงาย (Up-Right), แบบติดข้างผนัง (Side-Wall) โดยผู้ออกแบบงานระบบจะสามารถคำนวณและดำเนินการออกแบบตามรูปแบบของอาคารได้
หัวกระจายน้ำดับเพลิงหรือสปริงเกอร์ ไม่เพียงสามารถป้องกันชีวิต แต่ยังช่วยลดความสูญเสียของทรัพย์สินอันมีค่า ซึ่งในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงหรือสปริงเกอร์จะทำงานอัตโนมัติ โดยจะช่วยลดความร้อนอย่างรวดเร็ว และดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือช่วยลดความรุนแรงของเพลิงก่อนจะลุกลามไปยังจุดอื่น ๆ จนยากจะควบคุมได้ จากการทดสอบอาคารที่ไม่มีระบบสปริงเกอร์ หากเกิดเพลิงไหม้จะเกิดความสูญเสียมากกว่าอาคารที่มีระบบสปริงเกอร์หลายเท่าตัว