โรงงานอุตสาหกรรมนั้นจำเป็นต้องมีระบบการส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าเฉพาะ มีความซับซ้อนมากกว่าระบบที่ใช้อยู่ในอาคารที่พักอาศัย เนื่องจากการขับเคลื่อนของเครื่องจักรต่าง ๆ ในโรงงาน จำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมากเป็นตัวขับเคลื่อน หลักการที่สำคัญของระบบการจ่ายและควบคุมไฟฟ้าในโรงงาน เริ่มตั้งแต่การออกแบบให้เป็นไปตามข้อกําหนดของมาตรฐาน โดยเลือกระบบการจ่ายและการควบคุมให้เหมาะสมกับการใช้งาน รวมไปถึงความปลอดภัยในการควบคุมการจ่ายไฟฟ้าในโรงงานเนื่องจากระบบไฟฟาที่ใช้มีหลายระบบ การจ่ายไฟฟาที่ดี ควรพิจารณาเลือกใช้อุปกรณ์การจ่ายไฟฟ้าให้เหมาะสม สุดท้ายการตรวจสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอนั้น จะทำให้สามารถใช้งานระบบการจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย
โรงงานอุตสาหกรรมแต่ละประเภท จะมีการออกแบบระบบไฟฟ้าแตกต่างกันไป แม้แต่โรงงานประเภทเดียวกันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีระบบไฟฟ้าเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม การออกแบบระบบไฟฟ้าของโรงงาน โดยทั่ว ๆ ไปจะมีปัจจัยที่ควรต้องนำมาพิจารณา ได้แก่ ขนาดของโรงงานและกำลังไฟฟ้าที่ต้องใช้, ลักษณะหรือกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม, ประเภทของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงาน และทุนรวมถึงความเสี่ยงในการหยุดการผลิต
ขนาดของโรงงานและกำลังไฟฟ้าที่ใช้ มีผลกระทบต่อการเลือกระดับแรงดันของระบบไฟฟ้าในโรงงาน ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังการลงทุนในอุปกรณ์ และอัตราค่าไฟฟ้า ตลอดจนมาตรฐานที่การไฟฟ้าฯ ใช้ควบคุมการใช้ไฟของโรงงาน โรงงานขนาดเล็ก จะต้องเชื่อมต่อกับระบบแรงดันต่ำของการไฟฟ้า (จุดติดตั้งมาตรวัดไฟฟ้า) อัตราค่าไฟฟ้าคิดเฉพาะค่าพลังงานไฟฟ้า ไม่มีค่าความต้องการพลังไฟฟ้าพลังงานไฟฟ้าเกิน 400 Kwh หน่วยละ 2.4780 บาท โรงงานขนาดกลาง สามารถขอเลือกใช้และเชื่อมต่อระบบของการไฟฟ้าที่ระดับแรงดันต่าง ๆ ที่มีอยู่ในระยะห่างที่โรงงานมีความสามารถลงทุนได้ อัตราค่าไฟฟ้าก็จะแตกต่างกันตามระดับแรงดันที่ขอใช้ ส่วนโรงงานขนาดใหญ่ สามารถขอเลือกใช้และเชื่อมต่อระบบของการไฟฟ้าที่ระดับแรงดันที่ต้องการได้เช่นกัน แต่เดิมอัตราค่าไฟฟ้าจะคิดตามช่วงเวลาของวัน
กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมบางประเภทมีกระบวนการผลิตที่ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น คุณภาพของไฟฟ้ามีผลกระทบต่อผลผลิตของโรงงานสูง การออกแบบระบบไฟฟ้าของโรงงานต้องคำนึงถึงความปลอดภัยให้มาก บางอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้ามีลักษณะกระชากเป็นช่วง ๆ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก โรงโม่หิน โรงงานเชื่อมเหล็ก การออกแบบระบบไฟฟ้าต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าต้นทาง และผู้ใช้ไฟใกล้เคียงกัน กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยชี้นำในการลงทุน เพื่อคุณภาพของระบบไฟฟ้าของโรงงาน การที่ระบบไฟฟ้าขัดข้องมีผลกระทบเพียงทำให้ผลผลิตลดน้อยลง หรือ ล่าช้ากว่ากำหนด กำลังการผลิตต่ำ ซึ่งจะส่งผล กระทบต่อผลประกอบการของธุรกิจ ในกรณีที่ความต้องการสินค้าในตลาดสูง กำลังผลิตของโรงงานไม่พอเพียง
ประเภทของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงาน อุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังจะมีความต้องการคุณภาพของแหล่งจ่ายไฟในระดับที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับประเภทของอุปกรณ์ไฟฟ้านั้น และลักษณะการใช้งาน ระบบไฟฟ้าของโรงงาน จะต้องออกแบบให้เป็นต้นกำลังที่เหมาะสมและปลอดภัยเพียงพอกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะต้องใช้ในโรงงาน ซึ่งการวางระบบที่เหมาะสมจะสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้หลากหลาย สนองความต้องการในกระบวนการผลิตของโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ทุนรวมถึงความเสี่ยงในการหยุดการผลิต ในการพิจารณาทางเลือกในการลงทุนในระบบไฟฟ้าของแต่ละโรงงาน การวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ เป็นแนวทางหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ ฐานที่ใช้ในการเปรียบเทียบ มักใช้ทางเลือกที่การลงทุนเบื้องต้นทุนต่ำที่สุด ซึ่งทางเลือกที่กำหนดขึ้นเป็นโจทย์ที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของปัจจัยทั้งสี่ข้อที่กล่าวมาข้างต้นของแต่ละโรงงาน ในการออกแบบระบบไฟฟ้าควรออกแบบให้มีทางเลือกหลาย ๆ ทาง ในการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ และความแม่นยำในการประมาณการของวิศวกรผู้ออกแบบ จะช่วยทำให้ผลการวิเคราะห์ในการตัดสินใจของผู้บริหารของโรงงานแม่นยำขึ้น
กล่าวโดยสรุปคือ ระบบไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม มีความซับซ้อนในการทำงานและการออกแบบมากกว่าอาคารบ้านเรือนทั่วไป ทั้งนี้ การจ่ายไฟในแต่ละโรงงานอุตสาหกรรม ย่อมมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการจ่ายไฟจะต้องใช้ความระมัดระวัง และคำนึงถึงความปลอดภัย เพราะมีเครื่องจักรน้อยใหญ่หลายเครื่อง รวมถึงต้องเลือกวัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับขนาดของโรงงานและการจ่ายไฟ