ไฟฉุกเฉิน (Emergency Light) เป็นอุปกรณ์ทางไฟฟ้าที่ทุกอาคารจำเป็นที่จะต้องมีการติดตั้ง เนื่องจากมันเป็นอุปกรณ์ที่จะทำหน้าที่ในการให้แสงสว่างในเวลาที่ระบบไฟฟ้าภายในอาคารถูกตัด หรือ ไฟฟ้าภายในอาคารดับจากเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างการเกิดเพลิงไหม้ เพื่อให้ผู้ที่อาศัยอยู่ภายในอาคารนั้นสามารถมองเห็น และสามารถหลบหนีจากสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในอาคารได้นั่นเอง
จึงทำให้ไฟฉุกเฉินนั้นมีถูกกำหนดมาตรฐานสำหรับการติดตั้งและการใช้งานขึ้นมา เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน โดยมาตรฐานของไฟฉุกเฉินนั้นก็มีอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ ดังนี้
- การเตรียมการติดตั้งไฟฉุกเฉิน
ขั้นตอนแรกของการติดตั้งไฟฉุกเฉินภายในอาคารนั้น ควรเริ่มจากการได้รับความยินยอมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารสถานที่นั้น ๆ ก่อน จากนั้นผู้ติดตั้งจึงค่อยไปศึกษาแผนผังของอาคารที่ต้องการที่จะทำการติดตั้ง โดยแผนผังดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียด ดังนี้ เส้นทางสำหรับการหนีภัย อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับดับเพลิง เช่น อุปกรณ์ดับเพลิง จุดติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนเพลิงไหม้ อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์สำหรับปฐมพยาบาล รวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ ภายในอาคารที่อาจกีดขวางเส้นทางในการหนีภัย โดยความสำคัญของการศึกษาแผนผังภายในอาคารก่อนทำการติดตั้งไฟฉุกเฉิน ก็คือ มันจะช่วยให้เราสามารถกำหนดจำนวนของแสงสว่าง และตำแหน่งการติดตั้งของไฟฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งาน
- ระดับแสงสว่างของไฟฉุกเฉิน
แสงสว่างของไฟฉุกเฉินนั้นมีความสำคัญต่อการใช้งานมาก ๆ เนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นภายในอาคาร อาจทำให้เราไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้เท่าที่ควร ดังนั้น การที่ไฟฉุกเฉินภายในอาคารมีแสงสว่างที่เพียงพอต่อการใช้งาน ก็จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นและควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในอาคารได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยทั่วไประดับแสงสว่างของไฟฉุกเฉินจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ดังนี้
2.1) แสงสว่างเพื่อการหนีภัย
เป็นแสงสว่างของไฟฉุกเฉินที่มีการทำงานอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าระบบจ่ายไฟฟ้าภายในอาคารนั้นจะยังทำงานได้อย่างปกติก็ตาม แต่โดยทั่วไปมันจะทำงานได้ดีในยามที่ระบบจ่ายไฟฟ้านั้นถูกตัด ซึ่งเป็นการตัดของระบบไฟฟ้าที่อาจนำไปสู่อันตรายต่าง ๆ ต่อผู้ที่อาศัยอยู่ภายในอาคารได้
2.2) แสงสว่างสำรอง
เป็นแสงสว่างของไฟฉุกเฉินที่ถูกติดตั้งในพื้นที่ที่มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ใช้ในกรณีที่ระบบจ่ายไฟฟ้าถูกตัด ทั้งนี้ แสงสว่างสำรองควรมีความสว่างเทียบเท่าแสงสว่างของระบบไฟฟ้าตามปกติ
โดยทั่วไประดับความสว่างของไฟฉุกเฉินนั้น หากวัดในบริเวณพื้นห้อง จะต้องมีความเข้มไม่น้อยกว่า 0.5 ลักซ์ ในกรณีไฟฉุกเฉินที่ติดตั้งบริเวณทางหนีภัย ที่ความกว้างของเส้นทางนั้นไม่เกินในระยะ 2 เมตร ระดับความสว่างของพื้นที่บริเวณกึ่งกลางของทางหนีภัย จะต้องไม่น้อยกว่า 1 ลักซ์ ในส่วนของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ความสว่างของไฟฉุกเฉิน จะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของระดับแสงสว่างปกติ และต้องไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์
ในส่วนของพื้นที่เตรียมการหนีภัยอย่าง จุดรวมพล ความสว่างของไฟฉุกเฉิน จะต้องไม่น้อยกว่า 15 ลักซ์ และในส่วนของพื้นที่เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่าง อุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์แจ้งเหตุ หรือ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลนั้น จะต้องมีความสว่างในแนวระนาบดิ่ง ที่ไม่ต่ำกว่า 5 ลักซ์ โดยตำแหน่งการติดตั้งของโคมไฟจะต้องไม่เกินระยะ 2 เมตร จากจุดที่เก็บอุปกรณ์
- ตำแหน่งติดตั้งไฟฉุกเฉิน
ตามมาตรฐานได้กำหนดให้ต้องติดตั้งตำแหน่งของไฟฉุกเฉินในบริเวณเส้นทางหนีภัย โดยต้องอยู่ภายในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยจะต้องติดตั้งให้สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 2 เมตร ซึ่งตำแหน่งที่ทำการติดตั้งจะต้องไม่กีดขวางเส้นทางอพยพออกจากอาคาร และไม่มีสิ่งใดวางกีดขวางแสงสว่างของไฟฉุกเฉิน
- พื้นที่ในการติดตั้งไฟฉุกเฉิน
ตามมาตรฐานการติดตั้งไฟฉุกเฉิน พื้นที่ที่จำเป็นสำหรับการติดตั้งไฟฉุกเฉินภายในอาคาร ได้แก่ เส้นทางหนีภัย ทางออกจากอาคาร บริเวณทางแยก ทางเลี้ยวภายในอาคาร และบริเวณที่มีพื้นที่หลายส่วน จำเป็นที่จะต้องติดตั้งไฟฉุกเฉินให้ห่างกันไม่เกิน 2 เมตร ในส่วนของบันไดภายในอาคาร นั้นจำเป็นที่จะต้องติดตั้งไฟฉุกเฉินในทุกขั้นของบันได พื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์กู้ภัยต่าง ๆ พื้นที่ปฏิบัติงานอันตราย และบริเวณที่จัดเก็บอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้าเองก็ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ จำเป็นที่จะต้องมีการติดตั้งไฟฉุกเฉินทุกจุดบริเวณนั้น และในส่วนของห้องน้ำภายในอาคาร ก็จำเป็นที่จะต้องติดตั้งไฟฉุกเฉินด้วยเช่นกัน โดยจะต้องติดตั้งในพื้นที่ที่มากกว่า 8 ตารางเมตร รวมถึงต้องติดตั้งไฟฉุกเฉินภายในห้องน้ำสำหรับผู้พิการด้วย
- การเดินสายและการตรวจสอบการทำงานของระบบไฟฟ้า
การเดินสายและการตรวจสอบการทำงานของระบบไฟฟ้าให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานของการติดตั้งไฟฉุกเฉินนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ เนื่องจากระบบไฟฟ้าหลักภายในอาคารนั้นจำเป็นที่จะต้องจ่ายไฟไปยังระบบไฟฟ้าฉุกเฉินอีกทีหนึ่ง โดยหากเราต้องการติดตั้งไฟฉุกเฉินภายในอาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารพาณิชย์ เราจำเป็นที่จะต้องแยกระบบไฟฟ้าหลักออกจากอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ โดยสายไฟฟ้าที่เหมาะสำหรับการใช้งานกับไฟฉุกเฉินนั้นจะต้องเป็นสายไฟประเภททนไฟ
ซึ่งสายไฟที่ทำการติดตั้งนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันความเสียหายด้วยเช่นกันอย่างอุปกรณ์ครอบสายไฟ โดยอุปกรณ์ครอบสายไฟนั้นจำเป็นที่จะต้องทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ในส่วนของขนาดของสายไฟที่ทำการติดตั้ง จะต้องมีขนาดที่ไม่น้อยกว่า 2.5 ตารางมิลลิเมตร ที่สามารถรับแรงดันไฟตกได้ไม่เกินร้อยละ 5 และสวิตช์สำหรับไฟฉุกเฉิน ก็ควรที่จะทำการติดตั้งในจุดที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถมองเห็นและเข้าถึงได้ ทั้งนี้ ควรติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการกดเล่นควบคู่เอาไว้ด้วย โดยสวิตช์ควบคุมนั้นจะต้องมีพิกัดไม่น้อยกว่า 2 เท่าของกระแสในวงจร และจะต้องไม่มากกว่า 32 แอมแปร์
- ระยะเวลาในการให้แสงสว่างของไฟฉุกเฉิน
โดยทั่วไปของมาตรฐานการติดตั้งไฟฉุกเฉินนั้น หากระบบไฟฟ้าหลักภายในอาคารถูกตัดลง ระบบไฟฉุกเฉินจะต้องเริ่มต้นการทำงานในทันที โดยระยะเวลาในการให้แสงสว่างของไฟฉุกเฉินนั้น ตามมาตรฐานจะต้องให้แสงสว่างได้อย่างต่อเนื่องเป็นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หลังจากที่ระบบไฟฟ้าภายในอาคารถูกตัด โดยการให้แสงสว่างของไฟฉุกเฉินที่ดี จะต้องมีลักษณะที่สม่ำเสมอ ไม่กระพริบติด ๆ ดับ ๆ
- การตรวจสอบการทำงานของไฟฉุกเฉิน
มาตรฐานของการติดตั้งไฟฉุกเฉินนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบสภาพและมีการทดลองใช้อุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ 3 เดือน