มาตรฐานของนั่งร้าน มีอะไรบ้างนะ?

งานในด้านวิศวกรรมหรืองานก่อสร้างต่าง ๆ นั้นเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้และความชำนาญของศาสตร์ในงานที่ทำ เช่น ศาสตร์ในด้านไฟฟ้า, เครื่องกล, เคมี หรือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่แล้วงานประเภทนี้ เป็นงานที่ผู้ปฏิบัติจะต้องมีการออกหน้างานอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นงานที่จะต้องมีการติดตั้ง ต่อเติม หรือ ซ่อมแซม จึงทำให้งานประเภทนี้เป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ภายในพื้นที่ปฏิบัติงาน เช่น ความรุนแรงของกระแสไฟฟ้า สารเคมี หรือ ความมั่นคงของอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอุปกรณ์ที่ต้องมีความมั่นคงภายในงานก่อสร้างอย่าง “นั่งร้าน” โดยมันเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เป็นโครงสร้างชั่วคราว เพื่อให้ช่างก่อสร้างสามารถปีนหรือเหยียบขึ้นไปทำงานบนที่สูง รวมถึงใช้ในการวางสิ่งของที่จำเป็นในงานก่อสร้างได้

เนื่องจากนั่งร้านเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปีนหรือเหยียบขึ้นไปเพื่อทำงานในที่สูง ๆ มันจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานรองรับสำหรับการใช้งานในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการยืนยันให้ผู้ใช้งานสามารถมั่นใจได้ว่า นั่งร้านนี้เป็นนั่งร้านที่ดีและมีคุณภาพ เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในงานก่อสร้างและซ่อมแซมนั่นเอง

  โดยมาตรฐานของนั่งร้านที่ดีและมีคุณภาพนั้น จากการที่เราได้ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ ทำให้เราสามารถจำแนกข้อมูลที่สำคัญออกมาได้ ดังนี้

  1. นั่งร้านที่ทำด้วยไม้ ต้องมีการออกแบบเพื่อรองรับน้ำหนักไว้สูงสุด ไม่เกิน 4 เท่า ของน้ำหนักที่จะใช้งานจริง
  1. นั่งร้านที่ทำมาจากไม้ จะต้องไม่นำไม้ที่มีการผุ เปื่อย รอยร้าว หรือ การชำรุดใด ๆ มาใช้งาน เนื่องจากจะทำให้ขาดความแข็งแรงทนทาน
  1. นั่งร้านที่ทำมาจากโลหะ จะต้องมีจุดคราก (Yield Point) ที่ไม่น้อยกว่า 2,400 กก. / ตร.ซม. อีกทั้งยังต้องรับน้ำหนักบรรทุกได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักของการใช้งาน
  1. ข้อควรระวังในการใช้งานนั่งร้าน คือ ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ประเภทเดียวกัน ไม่ควรใช้แบบผสมผสานกัน
  1. โครงนั่งร้านจะต้องมีการยึดโยง ค้ำยัน ตรึงติดกับพื้น หรือ ส่วนต่าง ๆ ของงานก่อสร้าง เพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์และผู้ปฏิบัติงานเซหรือล้มในระหว่างที่ทำการปฏิบัติงาน
  1. นั่งร้านที่มีความสูงกว่า 2 เมตร จะต้องมีการติดตั้งราวกันตกเอาไว้
  1. ราวกันตกจะต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 90 ซม. และไม่เกิน 1.10 เมตร จากพื้นนั่งร้านตลอดแนวยาวด้านนอกของนั่งร้าน ยกเว้นเฉพาะช่วงที่จำเป็นสำหรับการขนถ่ายสิ่งของ และนั่งร้านประเภทเสาเรียงเดี่ยว
  1. ต้องจัดให้มีบันไดภายในของนั่งร้าน และบันไดจะต้องมีความลาดเอียงไม่เกิน 45 องศา ยกเว้นนั่งร้านประเภทเสาเดี่ยว
  1. นั่งร้านที่มีคุณภาพ จะต้องมีการออกแบบเอาไว้เผื่อให้นั่งร้านสามารถรับน้ำหนักของผ้าใบสังกะสี ไม้แผ่น หรือวัสดุอื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันได้ นอกจากนี้ จะต้องมีการบำรุง ดูแล รักษาสภาพการใช้งานของนั่งร้านอย่างสม่ำเสมอ หากมีแผ่นดินไหว พายุ หรือ เหตุการณ์ใด ๆ ที่ทำให้นั่งร้านเกิดความเสียหาย จะต้องรีบทำการซ่อมแซมและปรับปรุงให้นั่ง้รานมีสภาพที่ปลอดภัยและพร้อมสำหรับการใช้งาน 

ทั้งนี้ มาตรฐานที่ดีที่สุดในการปฏิบัติงานก่อสร้างใด ๆ ก็ตาม นั่นก็คือ ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ที่คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลด้วยทุกครั้งที่ทำการปฏิบัติงาน เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ปฏิบัติงานเอง และทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในพื้นที่ที่มีการปฏิบัติงาน

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *