Watt Hour Meter (วัตต์ฮาวมิเตอร์) คือ เครื่องมือวัดงานไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้วัดค่าพลังงานไฟฟ้าต่อเวลาที่ใช้ไปภายในบ้านเรือน หรือ ภายในโรงงานอุตสาหกรรม โดยทั่วไปเครื่องวัดชนิดนี้จะถูกติดตั้งเอาไว้บริเวณพื้นที่ของการไฟฟ้าฯ ภายนอกบ้านและอาคาร โดยหน่วยวัดทางไฟฟ้าของเครื่องวัดชนิดนี้คือ กิโลวัตต์ชั่วโมง (Kilowatt – Hour)
Watt Hour Meter สามารถแบ่งตามระบบของไฟฟ้าได้เป็น 2 ประเภท โดยประเภทแรกคือ วัตต์ฮาวมิเตอร์ 1 เฟส (Single Phase Watt – Hour Meter) และประเภทที่สองคือ วัตต์ฮาวมิเตอร์ 3 เฟส (Three Phase Watt – Hour Meter)
โครงสร้างของ Watt Hour Meter นั้น ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกับระบบของไฟฟ้า ดังนี้
- วัตต์ฮาวมิเตอร์ 1 เฟส (Single Phase Watt – Hour Meter)
โครงสร้างของวัตต์ฮาวมิเตอร์แบบ 1 เฟส มีส่วนประกอบที่สำคัญอยู่ด้วยกัน 5 ส่วน ดังนี้ 1) ขดลวดกระแสไฟฟ้า (Current Coil) 2) ขดลวดแรงดันไฟฟ้า (Potential Coil) 3) จานหมุนอลูมิเนียม 4) ชุดเฟืองขับตัวเลขแสดงผล และ 5) สิ่งห่อหุ้มและฐานของมิเตอร์
- วัตต์ฮาวมิเตอร์ 3 เฟส (Three Phase Watt – Hour Meter)
โครงสร้างของวัตต์ฮาวมิเตอร์แบบ 3 เฟส มีส่วนประกอบสำคัญที่คล้ายคลึงกับแบบ 1 เฟส เพียงแต่ขดลวดกระแสและแรงดัน จะเป็นขดลวดสำหรับใช้กับไฟฟ้า 3 เฟสเท่านั้น
จึงทำให้ Watt Hour Meter นั้นมีหลักการในการทำงานโดยอาศัยหลักการเหนี่ยวนําไฟฟ้าที่เกิดจากเส้นแรงแม่เหล็กของขดลวดสองชุด โดยขดลวดชุดแรกเป็นขดลวดรับกระแสไฟฟ้า และขดลวดชุดที่สองเป็นขดลวดรับแรงดันไฟฟ้า โดยเส้นแรงเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการผลักดันให้เกิดการเคลื่อนที่ของจานหมุน เพื่อให้เครื่องมือวัดสามารถแสดงค่าพลังงานไฟฟ้าที่วัดออกมาได้นั่นเอง