เฟือง (Gear) เป็นชิ้นส่วนของเครื่องกลชนิดหนึ่ง ที่มีรูปร่างลักษณะเป็นจานแบนทรงกลม ตรงขอบจะมีลักษณะเป็นแฉก หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ฟันเฟือง โดยมันสามารถนำไปประกบกับเฟืองอีกตัวได้ ในการทำงานเมื่อเฟืองตัวแรกมีการหมุนเกิดขึ้น เฟืองตัวที่สองจะหมุนไปในทิศทางตรงกันข้ามกับเฟืองตัวแรก ทำให้เกิดเป็นแรงส่งกำลังขึ้น
โดยเฟืองนั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งานที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปที่นิยมนำไปใช้ในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ นั้นจะมีด้วยกันอยู่ 8 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
- เฟืองตรง (Spur Gear)
เป็นเฟืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในงานอุตสาหกรรม เนื่องจากสามารถหาซื้อได้ง่าย มีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูง อีกทั้งยังมีการประกอบและการติดตั้งที่ง่าย เฟืองตรงเป็นเฟืองที่มีลักษณะเป็นแนวขนานไปกับรูเพลา นิยมนำมาใช้ในการส่งกำลังในงานอุตสาหกรรมทั่ว ๆ ไป
- เฟืองสะพาน (Rack Gear)
เป็นเฟืองที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วนด้วยกัน โดยส่วนแรกคือ ส่วนที่เป็นเฟืองขับลักษณะเป็นวงกลม และส่วนที่ 2 เป็นเฟืองสะพานที่มีลักษณะเป็นแท่งยาวตรง ในส่วนของการใช้งานจะต้องให้ฟันเฟืองทั้ง 2 ส่วนนั้นวางอยู่ในลักษณะขบกัน โดยการทำงานของเฟืองประเภทนี้ จะใช้ในการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเคลื่อนที่ จากการเคลื่อนที่แบบหมุนหรือเชิงมุม ให้กลายเป็นการเคลื่อนที่แบบเส้นตรงหรือแบบกลับไปกลับมา ทำให้เฟืองประเภทนี้ถูกนำไปใช้ในงานที่ต้องการการส่งถ่ายกำลังต่าง ๆ เช่น เครื่องจักรกล ระบบบังคับเลี้ยวของรถยนต์ เครื่องพิมพ์หรือเครื่อง Plot ขนาดใหญ่ งานอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เครื่องกลึงยันศูนย์ และเครื่องเจาะ เป็นต้น
- เฟืองเฉียง (Helical Gear)
เป็นเฟืองที่มีลักษณะคล้ายกับเฟืองตรง แต่ลักษณะแนวของฟันเฟืองจะไม่ขนานไปกับเพลาเหมือนเฟืองตรง แต่จะทำมุมเฉียงแทน ในการใช้งานเฟืองประเภทนี้จะต้องใช้เป็นคู่ โดยเฟืองตัวแรกจะเอียงไปทางซ้าย และเฟืองตัวที่ 2 จะเอียงไปทางขวาในมุมที่เท่ากัน จึงทำให้เฟืองประเภทนี้มีข้อได้เปรียบกว่าเฟืองตรง ตรงที่มันสามารถรับโหลดได้มากกว่าเฟืองตรงที่มีขนาดเท่ากัน อีกทั้งเสียงในขณะทำงานของเฟืองเฉียงจะเงียบกว่าเฟืองตรง เนื่องจากการขบกันของเฟืองจะมีความนิ่มนวลกว่า เพราะมุมที่เฉียงของฟันเฟือง จะทำให้เกิดการเหลื่อมกันของฟันเฟืองขณะหมุนนั่นเอง
- เฟืองเฉียงก้างปลา (Herringbone Gear)
เป็นเฟืองที่ถูกพัฒนาต่อมาจากเฟืองเฉียง โดยพัฒนาให้ลักษณะของฟันเฟืองนั้นเฉียงเข้าหากันในมุมที่เท่ากันมากขึ้น ทำให้ช่วยลดแรงรุนด้านข้างในขณะที่มีการทำงานได้ อีกทั้งเฟืองประเภทนี้ยังข้อดีเหมือนกับเฟืองเฉียง ตรงที่มันจะไม่มีเสียงดังในขณะที่มีการทำงาน และยังสามารถรับโหลดได้มากกว่าเฟืองตรง แต่เฟืองประเภทนี้จะมีข้อดีที่ไม่เหมือนกับเฟืองเฉียงอย่างหนึ่ง ตรงที่มันเป็นเฟืองที่ไม่สามารถเลื่อนออกจากกันได้
- เฟืองวงแหวน (Internal Gear)
เป็นเฟืองที่มีลักษณะคล้ายกับเฟืองตรงอีกเช่นกัน แต่จะแตกต่างตรงที่ตัวของฟันเฟืองจะอยู่ด้านในของวงกลม และมีเฟืองคู่กันขนาดเล็กกว่าขบกันอยู่ด้านใน โดยทั่วไปเฟืองประเภทนี้ จะมีเฟืองตัวเล็ก (Pinion Gear) ที่อยู่ด้านใน ทำหน้าที่เป็นตัวขับแรงส่งกำลัง ส่วนตัวใหญ่จะหมุนในลักษณะการเยื้องศูนย์
- เฟืองดอกจอก (Bevel Gear)
เป็นเฟืองที่มีลักษณะรูปทรงคล้ายกับกรวยสองตัวที่ขบกัน ใช้สำหรับส่งกำลังจากเพลาหนึ่งไปยังอีกเพลาหนึ่ง โดยมุมระหว่างเพลาจะทำมุมกันที่ 90 องศา จึงทำให้เฟืองประเภทนี้ถูกนำไปใช้งานในยานพาหนะทั้งทางบกและทางน้ำ เช่น รถแทรกเตอร์ และเรือ เป็นต้น
- เฟืองตัวหนอน (Worm Gear)
เป็นเฟืองที่มีส่วนประกอบอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นล้อตัวหนอน (Worm Wheel) และส่วนที่ 2 เป็นตัวเฟือง (Worm Gear) ที่มีการทำงานแบบ Self – Locking ซึ่งเป็นการทำงานในรูปแบบการหมุน แนวเพลาขับและเพลาตามของเฟืองประเภทนี้ จะทำมุมกันที่มุมฉาก 90 องศา ข้อดีของเฟืองประเภทนี้ก็คือ มีการทำงานที่เงียบ และมีแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นน้อย
- เฟืองเกลียวสกรู (Spiral Gear)
เป็นเฟืองเกลียวที่ใช้ส่งกำลังระหว่างเพลาที่ทำมุมกัน 90 องศา นิยมนำมาใช้ในระบบเฟืองส่งกำลังของรถยนต์หรือเครื่องจักรที่ต้องการเปลี่ยนมุมในการส่งกำลัง แต่เฟืองประเภทนี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับระบบส่งกำลังที่มีกำลังมาก ๆ เนื่องจากลักษณะการเคลื่อนที่ส่งกำลังของเฟืองจะมีลักษณะในการลื่นไถล