มาตรฐาน IEEE คืออะไร?

IEEE หรือ Institute of Electrical and Electronics Engineers คือ สถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับ ดูแล มาตรฐานงานวิจัย ระบบโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ ระบบวัดคุม และการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิศวกรรมไฟฟ้าต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดมาตรฐานในการสื่อสารข้อมูลบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือก็คือการกำหนดมาตรฐานสำหรับเครือข่ายไร้สาย หรือ Wireless LAN (ไวเลสแลน) ขึ้นนั่นเอง 

โดยมาตรฐานของสายไวเลสแลนนี้ เรียกว่า IEEE 802.11 อีกทั้งยังมีการกำหนดมาตรฐานย่อยขึ้นอีก แบ่งออกเป็น a, b, e, f, g, h, n และ ac ตามลำดับ โดยแต่ละมาตรฐานนั้นจะมีความเร็วและคลื่นความถี่สัญญาณที่แตกต่างกัน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  1. มาตรฐาน IEEE 802.11a

เป็นมาตรฐานของไวเลสแลน ที่มีความเร็วในการรับ – ส่งข้อมูลประมาณ 54 Mbps ทำงานในย่านความถี่ 5 GHz ที่สามารถปรับอัตราความเร็วในการรับ – ส่งข้อมูลได้ตามแต่ที่ต้องการ อีกทั้งยังสามารถใช้ในการรับ – ส่งรูปภาพ วิดีโอ และข้อมูลที่มีความละเอียดสูงได้ นอกจากนี้ คลื่นความถี่ชนิดนี้สามารถทำงานได้ดี โดยไม่มีคลื่นความถี่อื่นรบกวนมากอีกด้วย ทำให้สามารถรับ – ส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากคลื่นความถี่ 5 GHz ยังไม่ได้ถูกเปิดให้ใช้ทั่วไปในสาธารณชน จึงทำให้ไม่มีปัญหารบกวนคลื่นความถี่มากเท่าไรนัก

  1. มาตรฐาน IEEE 802.11b

เป็นมาตรฐานของไวเลสแลนที่มีคลื่นความถี่อยู่ที่ 2.4 GHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ได้รับการเปิดให้ใช้ในพื้นที่สาธารณะ มีความเร็วในการรับ – ส่งข้อมูลประมาณ 11 Mbps ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ได้รับความนิยม และมีการใช้งานเป็นจำนวนมากในประเทศไทย อีกทั้งอุปกรณ์ที่สามารถทำงานกับคลื่นความถี่นี้ได้ จำเป็นที่จะต้องผ่านการรับรองจากสถาบัน Wireless Alliance ก่อน เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันที่ยอมรับได้ โดยมาตรฐานนี้จะมีระบบในการเข้ารหัสข้อมูลที่เป็นแบบ WEP อยู่ที่ 128 บิต ที่สามารถนำไปใช้งานได้ทุกประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องมีการขออนุญาต

  1. มาตรฐาน IEEE 802.11e

เป็นมาตรฐานที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับแอปพลิเคชัน VoIP (Voice over IP) โดยเฉพาะ ทีมีการรับประกันคุณภาพการใช้งานคลื่นความถี่ตามหลักการ Quality of Service เพื่อเป็นการปรับปรุง MAC Layer ให้มีประสิทธิภาพ

  1. มาตรฐาน IEEE 802.11f

เป็นมาตรฐานที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับผู้ใช้งานที่ข้ามเขตการให้บริการของ Access Point หนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการให้บริการ Roaming สัญญาณระหว่างกัน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Inter Access Point Protocol (IAPP)

  1. มาตรฐาน IEEE 802.11g

เป็นมาตรฐานที่ได้รับการต่อยอดจากมาตรฐาน 802.11b ในเรื่องของการเพิ่มความเร็วในการรับ – ส่งข้อมูล โดยเพิ่มขึ้นมากถึง 54 Mbps แต่อย่างไรก็ตาม มาตรฐานนี้ยังคงคลื่นความถี่อยู่ที่ 2.4 GHz เช่นเดิม รวมทั้งยังเป็นคลื่นความถี่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต โดยจุดเด่นนี้เอง จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาเช่นกัน เนื่องจากการได้รับสัญญาณรบกวนจากอุปกรณ์ที่ใช้คลื่นความถี่เดียวกัน ส่งผลต่อความเร็วในการรับ – ส่งข้อมูล

  1. มาตรฐาน IEEE 802.11h

เป็นมาตรฐานที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับอุปกรณ์เครือข่ายไร้สาย ที่ใช้งานย่านความถี่ที่ 5 GHz เพื่อให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดการใช้ความถี่ของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปเป็นหลัก ทำให้มาตรฐานชนิดนี้ไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกับการผู้ใช้งานคลื่นความถี่ภายในประเทศไทยเท่าไรนัก

  1. มาตรฐาน IEEE 802.11n

เป็นมาตรฐานที่ IEEE ยังไม่ได้ประกาศใช้งานออกมาอย่างเป็นทางการ จึงทำให้ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีการนำมาตรฐานนี้มาใช้งาน เนื่องจากมาตรฐานชนิดนี้เป็นการใช้นวัตกรรมจำนวนมากเข้ามาเพิ่มความรวดเร็วในการรับ – ส่งข้อมูล ที่สามารถส่งสัญญาณได้ในระยะทางที่ไกลมากยิ่งขึ้น ในความเร็วประมาณ 300 Mbps ผ่านเทคโนโลยี MIMO โดยการใช้ประโยชน์จากเสาสัญญาณจำนวนมากในการรับ – ส่งสัญญาณ ที่จะส่งผลทำให้สามารถรับ – ส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วที่สูงมากขึ้น อีกทั้งคลื่นความถี่มาตรฐานนี้ ยังเป็น Dual Band ที่สามารถใช้ทั้งความถี่แบบ 2.4 GHz และ 5 GHz ได้อีกด้วย

  1. มาตรฐาน IEEE 802.11ac

เป็นมาตรฐานที่พัฒนาต่อยอดมาจากมาตรฐาน 802.11n ที่มีการเพิ่มศักยภาพในการรับ – ส่งข้อมูลให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถส่งข้อมูลได้พร้อมกันหลายช่องทาง เนื่องจากสัญญาณมีความเสถียรและมีช่องสัญญาณกว้างมากขึ้น โดยคลื่นความถี่ของมาตรฐานนี้ ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่ม Channel Bonding จาก 40 MHz เป็น 80 และ 160 MHz ที่ทำให้สามารถรับ – ส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่ม MIMO ให้สามารถรองรับการส่งข้อมูลได้มากถึง 8 Spatial Streams ภายในเวลาเดียวกัน ที่สำคัญคือการรับ – ส่งข้อมูลด้วยคลื่นความถี่ตามมาตรฐานนี้ยังมีความเร็วสูงสุดมากถึง 6.9 Gbps อีกด้วย

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *