วงจรเรียงกระแส หรือ Rectifier Circuit คือ วงจรที่แปลงไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ให้เป็น ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) โดยอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการแปลงไฟฟ้าก็คือ ไดโอด วงจรเรียงกระแสจะใช้ไดโอดเป็นตัวเรียงกระแสไฟสลับที่มีคลื่นด้านบวกและลบให้เป็นไฟตรง ที่มีเฉพาะคลื่นด้านบวกหรือลบเพียงด้านเดียว
หากแบ่งตามลักษณะของแรงดันอินพุต วงจรเรียงกระแสจะมีทั้งแบบ 3 เฟส และ 1 เฟส แต่ถ้าแบ่งตามลักษณะของแรงดันเอาต์พุต จะแบ่งได้ 2 แบบ คือ 1. วงจรเรียงกระแสครึ่งคลื่น (Half – Ware Rectification) และ 2. วงจรเรียงกระแสเต็มคลื่น (Full – Ware Rectification)
- วงจรเรียงกระแสครึ่งคลื่น (Half – Ware Rectification)
วงจรเรียงกระแสแบบครึ่งคลื่น จะใช้ไดโอด 1 ตัว ในการเปลี่ยนอินพุตจากไฟฟ้ากระแสสลับ (คลื่นไซน์) ให้กลายเป็นไฟฟ้ากระแสตรง โดยเปลี่ยนเฉพาะคลื่นไซเกิลบวกของอินพุตเท่านั้น เพราะว่าไดโอดจะทำงานก็ต่อเมื่อได้รับคลื่นไซน์ด้านครึ่งไซเกิลบวกเท่านั้น เนื่องจากในช่วงนั้นไดโอดจะได้รับไบแอสโดยตรง จึงทำให้เกิดกระแสไหลจากแหล่งจ่าย (IF) ผ่านไดโอดไปสู่โหลด (RL) แต่เมื่อคลื่นไซน์อินพุตเป็นช่วงครึ่งของไซเกิลลบ เมื่อนั้นจะทำให้ไดโอดไม่ทำงาน ส่งผลให้ไม่มีกระแสไหลผ่านโหลด คลื่นในเอาต์พุตจึงปรากฏเฉพาะครึ่งไซเกิลบวกเท่านั้น
- วงจรเรียงกระแสเต็มคลื่น (Full – ware Rectification)
วงจรเรียงกระแสเต็มคลื่นจะใช้กับแหล่งจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับแบบ 1 เฟส มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ดังนี้
2.1) วงจรเรียงกระแสมีหม้อแปลงแทปกลาง (Full – Wave Rectifier with Tapping Transformer)
เป็นวงจรที่มีการใช้ไดโอด 2 ตัว ทำหน้าที่ในการแปลงสัญญาณไฟสลับให้กลายเป็นสัญญาณไฟตรง และใช้หม้อแปลงแทปกลาง 1 ตัว ในการแบ่งเฟสให้เกิดการต่างเฟสกัน 180 องศา ระหว่างสัญญาณที่ออกจากส่วนบนและส่วนล่างของขดทุติยภูมิของหม้อแปลง เพื่อให้ไดโอดทั้ง 2 ตัวทำงานสลับกัน วงจรจึงสามารถจ่ายกระแสได้เรียบและสูงกว่าวงจรเรียงกระแสแบบครึ่งคลื่น
2.2) วงจรบริดจ์ (Full – Wave Bridge Rectifier)
เป็นวงจรที่มีการใช้ไดโอด 4 ตัว แต่จะไม่มีการใช้หม้อแปลงแทปกลาง ซึ่งก็มีข้อดีมากกว่า เพราะหม้อแปลงแทปกลางนั้นมีขนาดที่ใหญ่ และมีน้ำหนักมากกว่าหม้อแปลงที่ไม่มีแทปกลาง เนื่องจากหม้อแปลงแบบแทปกลางจะมีขดลวดมากกว่า ดังนั้น การใช้วงจรบริดจ์จะเป็นการลดค่าใช้จ่าย และลดขนาดของวงจรได้มากกว่าแบบแรก