เคยสงสัยกันไหมว่า เวลาที่ไฟที่บ้านเราดับ ทำไมบ้านในละแวกข้าง ๆ ถึงไม่ดับเหมือนกันกับเรา? และถ้ายิ่งเกิดมาดับตอนในกลางคืน ก็ยิ่งสร้างความลำบากใจให้กับเราอีก ไหนจะจากการที่เราไม่สามารถใช้ไฟในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบ้านได้ ไหนจะความร้อนจากการที่ไม่สามารถใช้เครื่องปรับอากาศได้อีก และถ้ายิ่งเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นบ่อย ๆ ก็เริ่มเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าภายในบ้านของเรา
โดยสาเหตุที่ทำให้ไฟในบ้านของเรานั้นดับอยู่เพียงหลังเดียว นั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุหลัก ๆ ดังนี้
- ไฟรั่ว
สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดตั้งสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน การขาดการบำรุงรักษาหรือการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจาก ฉนวนที่ใช้หุ้มส่วนที่มีแรงดันไฟฟ้าเกิดความเสียหาย ทำให้แรงดันไฟฟ้าในจุดนั้น ๆ ไปสัมผัสกับโครงเหล็กของอุปกรณ์ต่าง ๆ จนทำให้เกิดไฟฟ้ารั่ว
- ไฟเกิน
มาจากการที่เราใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินกำลังไฟเยอะ ๆ หลาย ๆ อย่างพร้อมกันในบ้าน จนทำให้กำลังไฟที่ใช้งานเกินขนาด มิเตอร์จึงทำการตัดไฟฟ้า เพราะถ้าหากปล่อยให้อุปกรณ์ไฟฟ้ายังทำงานต่อไป ก็จะทำให้ระบบไฟฟ้าไม่สามารถทนต่อแรงดันที่เกินขนาดได้ และจะทำให้เกิดความเสียหายตามมา โดยเราสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาไฟเกินได้ โดยการไม่นำเอาอุปกรณ์ไฟฟ้ามาเสียบต่อในเต้ารับจุดเดียวกัน
โดยเราสามารถแจ้งหรือติดต่อไปที่การไฟฟ้าฯ โดยแบ่งตามพื้นที่ ดังนี้
- พื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โทรแจ้งไปที่การไฟฟ้านครหลวง (MEA) หมายเลข 1130
- พื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ให้โทรแจ้งไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ที่หมายเลข 1129
พร้อมกับแจ้งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็วของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ ดังนี้
- หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า 12 หลัก (สามารถดูได้จากบิลค่าไฟในแต่ละเดือน)
- ชื่อ – นามสกุล ผู้ที่ขอใช้ไฟฟ้า (เจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า)
- ที่อยู่ของสถานที่เกิดเหตุ เช่น บ้านเลขที่, หมู่ที่, ชื่อหมู่บ้าน, ซอย, ตำบล, อำเภอ, จังหวัด
- สถานที่ใกล้เคียงที่เป็นจุดเด่นใกล้สถานที่เกิดเหตุ เช่น วัด, สถานที่ราชการ
- สังกัดการไฟฟ้า (การไฟฟ้าที่ดูแลพื้นที่ที่เราอยู่อาศัย)
- ชื่อ – นามสกุล ของผู้แจ้งเหตุ
- หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
- วันและเวลาที่ไฟฟ้าดับ
- ลักษณะของไฟฟ้าดับ เช่น ไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง (ดับหลายหลัง) หรือไฟฟ้าดับที่บ้านหลังเดียว
- สาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้ไฟฟ้าดับ