การใช้ไฟฟ้าเวลาเกิดน้ำท่วม

จากสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ทำให้หลาย ๆ จังหวัดในประเทศไทยประสบกับเหตุการณ์อุทกภัย (น้ำท่วม) ซึ่งนอกจากที่จะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย

โดยเฉพาะกับไฟฟ้าซึ่งเป็นอันตรายอันดับแรก ๆ เลย หากมันอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ที่มีแหล่งน้ำท่วมขัง ดังนั้น เราจึงควรที่จะรู้วิธีในการรับมือต่าง ๆ ในการใช้ไฟฟ้าในเวลาที่เกิดน้ำท่วม

ข้อปฏิบัติก่อนเกิดน้ำท่วม

  1. เคลื่อนย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง เช่น หม้อหุงข้าวไฟฟ้า พัดลม และควรจัดวางในพื้นที่ที่มั่นคง ป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าตกหล่นลงไปในน้ำ 
  1. ตัดวงจรไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องปั๊มน้ำ
  1. ยกระดับของปลั๊กไฟให้สูงขึ้นจากพื้น ในกรณีที่ไม่สามารถยกระดับปลั๊กไฟได้ให้ทำการตัดวงจรไฟฟ้าเต้ารับ และขั้นตอนนี้ขอแนะนำว่าควรให้ช่างไฟฟ้าเป็นฝ่ายดำเนินการตัดวงจรไฟฟ้าจะเป็นการดีที่สุด
  1. ตัดวงจรไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดทั้งภายในและภายนอกบริเวณบ้าน
  1. ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วที่แผงเมนสวิตช์

ข้อปฏิบัติขณะเกิดน้ำท่วม

  1. หากยืนอยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ไม่ควรทำการเปิดสวิตช์หรือเสียบปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าใด ๆ เป็นอันขาด
  1. อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้ทำการเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย ก่อนที่จะใช้งานอีกครั้ง ควรจัดวางให้อยู่ในที่ที่มั่นคง เพื่อเป็นการป้องกันการตกหล่นลงไปในน้ำ
  1. หากพบเห็นสายไฟหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแช่อยู่ในน้ำ ห้ามเข้าใกล้หรือไปสัมผัสเด็ดขาด
  1. กรณีที่ต้องการใช้เครื่องสูบน้ำ ควรติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วก่อน เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดไฟช็อตหรือไฟดูด ในขณะที่ทำการสูบน้ำออกจากบ้าน

ข้อปฏิบัติหลังการเกิดน้ำท่วม

  1. ควรตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ก่อนว่ายังมีกระแสไฟไหลเวียนอยู่หรือไม่ และแนะนำว่าควรให้ช่างไฟฟ้าหรือผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนที่จะนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง

ข้อควรระวังอื่น ๆ 

  1. หากพบเห็นผู้ที่ถูกไฟดูด อย่าใช้มือเปล่าหรือวัตถุที่เป็นตัวนำไฟฟ้าไปสัมผัสโดยตรง ควรใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกแห้ง พันมือให้หนาแล้วผลักหรือดึงตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็วที่สุด หรือจะใช้ผ้าคล้องที่มือแล้วทำการปลดสวิตช์ไฟฟ้าก็ได้เช่นกัน
  1. หากพบเห็นสายไฟฟ้าขาด เสาไฟฟ้าล้ม หรือ สายไฟฟ้าขาดแช่น้ำ พยายามอย่าไปเข้าใกล้หรือสัมผัสโดยตรง แต่ควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *