ไฟฟ้าสถิต ( Static electricity ) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากความไม่สมดุลของปริมาณประจุไฟฟ้าขั้วบวกและขั้วลบภายในวัสดุหรือบนพื้นผิวของวัสดุ โดยปกติแล้ว วัสดุทุกชนิดจะมีความเป็นกลางทางไฟฟ้า แต่เมื่อเกิดการเสียดสี โดยการนำเอาวัตถุบางอย่างมาถูกันจะทำให้เกิดพลังงานขึ้น เช่น การนำเอาแท่งยางแข็งถูกับผ้าสักหลาด, การนำลูกโป่งมาถูกับเส้นผม หรือการสัมผัสกันระหว่างรองเท้าหนังและพรมเช็ดเท้า พลังงานที่เกิดขึ้นจะถูกเรียกว่า ประจุไฟฟ้าสถิต เมื่อเกิดประจุไฟฟ้าแล้ว วัตถุนั้นจะเก็บประจุไฟฟ้าไว้ภายใน และจะถ่ายเทไปจนหมด เรียกว่า Electrostatic Discharge หากเป็นวัตถุที่ต่อลงจะยิ่งทำให้คายประจุได้อย่างรวดเร็ว และในวันที่มีอากาศแห้งก็จะทำให้เกิดประจุไฟฟ้าได้มากกว่าปกติ ซึ่งทำให้สามารถดูดวัตถุจากระยะทางไกล ๆ ได้ดี โดยประจุที่เกิดขึ้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ประจุบวกและประจุลบ ซึ่งจะมีคุณสมบัติคือ ประจุไฟฟ้าชนิดเดียวกันจะผลักกันประจุไฟฟ้าต่างชนิดกันจะดูดกัน
ช่วงอากาศแห้งมากในฤดูหนาวก็ยิ่งทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยในเรื่องของความชื้นในอากาศ (Air humidity) ก่อให้เกิดการสะสมของประจุไฟฟ้าได้ง่ายและถ่ายเทประจุไฟฟ้าได้มากกว่าอากาศในช่วงฤดูร้อน นอกจากการรักษาระดับความชื้นในอากาศแล้ว การใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่น การดื่มน้ำหรือทาครีมบำรุงผิวเพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้น การสวมรองเท้าพื้นยาง หรือการหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ เหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการช่วยลดการเกิดไฟฟ้าสถิต และความรู้สึกเหมือนโดนช็อตได้