บัสดักส์ (Busduct) หรืออีกชื่อคือ บัสเวย์ (Busway) เป็นทางเดินไฟฟ้าสำหรับส่งจ่ายในระบบไฟฟ้า ทำหน้าที่คล้ายๆกับสายไฟฟ้า มีลักษณะเป็นแท่งตัวนำ ทำมาจากทองแดงหรือ อะลูมิเนียม โดยทั่วไปแล้วแท่งตัวนำจะนำมารวมเข้าด้วยกันเป็นแท่งเดียว ภายในตัวนำจะแยกออกจากกันด้วยฉนวนไฟฟ้า นิยมใช้ในระบบไฟฟ้า 3 เฟส 4 สาย แรงดัน 380/220 โวลต์ มักใช้งานในอาคารสูงและโรงงานอุตสาหกรรมเนื่องจากติดตั้งง่ายและปลอดภัย
Busduct ในปัจจุบันนั้นแยกออกเป็น 2 ประเภท
- รูปแบบ Indoor ใช้ติดตั้งในอาคารที่ไม่มีความชื้น เช่น ตู้ไฟฟ้าภายในหรือการเดินระบบไฟฟ้าตามชั้นต่างๆ
- รูปแบบ Outdoor ใช้ติดตั้งภายนอกตัวอาคารหรือชั้นใต้ดินที่มีสภาพชื้น
โครงสร้างของ Busduct จะประกอบด้วย
- ตัวนำ (conductor) มีด้วยกัน 2 แบบคือทองแดงและอะลูมิเนียม ซึ่งวัสดุทั้งสองตัวจะถูกเคลือบผิวด้วยดีบุกเพื่อป้องกันการกัดกร่อน ในปัจจุบันนิยมใช้อะลูมิเนียมมากกว่าทองแดง เนื่องจากมีราคาถูกและน้ำหนักเบา การทนต่อกระแสของตัวนำมีขนาดตั้งแต่ 225, 400, 600, 800, 1000, 1200, 1350, 1600, 2000, 2500, 3000, 4000และ 5000แอมแปร์ขึ้นไป
- ฉนวนไฟฟ้า (Insulation) ในยุคแรกของการผลิตบัสเวย์เพื่อใช้แทนสายไฟนั้น ยังไม่มีการวางตัวนำชิดติดกัน โดยจะเว้นระยะห่างด้วยอากาศเป็นฉนวนแทน (Air Insulation) ถัดมามีการออกแบบให้มีขนาด Compact มากขึ้น โดยการวางตัวนำชิดติดกันเรียกว่า Sandwich type ซึ่งจะใช้ฉนวน 2 แบบคือ ฉนวนแบบ Mylar มีอายุการใช้งานประมาณ 20-30 ปี และฉนวนแบบ Epoxy มีอายุการใช้งานประมาณ 50 ปี
- อุปกรณ์เสริม (housing) คือโครงที่ห่อหุ้มตัวนำ โดยวัสดุที่นำมาใช้ คือ เหล็กและอะลูมิเนียม แต่ในปัจจุบันที่นิยมใช้กัน คืออะลูมิเนียมเนื่องจากมีความแข็งแรงสูง กระจายความร้อนได้ดีและน้ำหนักเบา อีกทั้งยังป้องกันการกัดกร่อน ฝุ่นและน้ำเข้าได้
ข้อดีของการนำ Busduct มาใช้ในการจ่ายกระแสไฟฟ้า
- มีขนาดเล็ก สามารถติดตั้งได้ง่าย
- มีความทนทานที่มากกว่าสายไฟธรรมดา เนื่องจาก Housing เป็นอะลูมิเนียม
- สามารถระบายความร้อนได้ดี
- ติดได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ตามมาตรฐาน IP55 และ IP66
- มีความต้านภายในต่ำ
- ระบบไฟฟ้ามีความเสถียรมากกว่าสายไฟทั่วไป